UN ชี้ "ชั้นโอโซน" ดีขึ้นภายในปี 2040 หากลดโลกร้อนต่อเนื่อง
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น )เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) ว่า การปกป้องชั้นโอโซนของโลกจะทำให้โอโซนฟื้นฟูดีขึ้นภายใน 40 ปี
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การฟื้นฟูกำลังค่อยเป็นค่อยไปและอาจใช้เวลาหลายสิบปี หากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินต่อ ชั้นโอโซนอาจดีขึ้นภายในปี 2040 จนเทียบเท่าระดับโอโซนในยุค 1980 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดช่องโหว่โอโซน และจะทำให้ทวีปอาร์กติกกลับมาเป็นปกติภายในปี 2045 รวมถึงทวีปแอนตาร์กติกาอาจกลับมาเป็นปกติเช่นกัน ภายในปี 2066
นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมยกย่องการเลิกปล่อยสารเคมีทำลายชั้นโอโซน ซึ่งเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของโลกจนถึงทุกวันนี้ และจะเป็นแบบอย่างให้กับการสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษที่ทำให้โลกร้อน
ด้าน “เพตเตอรี่ ทาลาส” เลขาธิการขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็นโอ) กล่าวว่า “ความสำเร็จของการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน แสดงให้เราเห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้หรือสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานเชื้อเพลิง ลดก๊าซเรือนกระจก และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น”
นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า การลดปล่อยสารเคมีคลอโรฟลูออโรคาร์บอน-11 หรือ CFC-11 ที่เราใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ทำโฟมฉนวนความร้อน เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2561 หลังมีการใช้สารเพิ่มขึ้นมากมาหลายปี ซึ่งสาร CFC-11 ส่วนใหญ่ถูกปล่อยโดยประเทศจีน
นอกจากนี้ รายงานเผยด้วยว่าสารเคมีคลอรีนที่ทำลายชั้นโอโซนลดลง 11.5% ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ตั้งแต่มีการปล่อยสูงสุดเมื่อปี 2536 ขณะที่โบรมีนลดลง 14.5% ตั้งแต่ระดับสูงสุดเมื่อปี 2542
อย่างไรก็ตาม นักวิทยศาสตร์เตือนว่า ความพยายามที่จะทำให้โลกเย็นลงด้วยการฉีดพ่นสารเคมีสู่บรรยากาศชั้นบน เพื่อสะท้อนกลับรังสีดวงอาทิตย์ อาจทำให้ชั้นโอโซนเบาบางลง และย้ำว่า การวิจัยเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ด้านวิศวกรรมธรณี เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
นักวิจัยหลายคนร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO),โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP), องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือโนอา(NOAA),องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA) และคณะกรรมาธิการยุโรป มีส่วนร่วมในการประเมินครั้งนี้
ทั้งนี้ ชั้นโอโซนเหนือในบรรยากาศชั้นบน ช่วยปกป้องโลกจากรังสียูวีของดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และสร้างความเสียหายให้กับที่ดินการเกษตร