อ่าน Spare แฉด้านมืด‘ราชวงศ์อังกฤษ’
Spare หนังสือบันทึกความทรงจำเจ้าชายแฮร์รี ติดอันดับหนังสือขายดีของเว็บไซต์อเมซอนในอังกฤษ สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมนี และแคนาดา เป็นปากคำจากคนในถึงความแตกแยกในครอบครัวที่หลายคนคาดไม่ถึง
นับว่าได้ผลกับกลยุทธ์เดินสายให้สัมภาษณ์สื่อรัวๆหลายวันก่อนหนังสือวางขาย ทั้งยังมีเนื้อหารั่ว และการวางแผงก่อนกำหนดด้วยความเข้าใจผิดของฉบับภาษาสเปน Spare หนังสือบันทึกความทรงจำเจ้าชายแฮร์รี ที่วางแผงอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร (10 ม.ค.) ทุบสถิติหนังสือที่ไม่ใช่นวนิยาย (non-fiction) ขายดีสุดของสหราชอาณาจักร
“เรารู้มาตลอดว่าหนังสือเล่มนี้ต้องขายดีราวติดปีก แต่มันเกินความคาดหมายของเรามาก เท่าที่ทราบ เล่มเดียวที่ขายดีกว่าเราในวันแรกก็คือแฮร์รี (พอตเตอร์) อีกราย” แลร์รี ฟินเลย์ กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ทรานส์เวิลด์ เพนกวิน แรนดอม กล่าวถึงยอดขาย Spare วันแรกทำได้ 4 แสนฉบับในทุกแพลตฟอร์มทั้งหนังสือเล่ม อีบุ๊ค และหนังสือเสียง
สาเหตุที่คนทั่วโลกจับตาเพราะเนื้อหา “แฉ” เปิดเผยตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวของเจ้าชายแฮร์รี ไปจนถึงข้อกล่าวหาต่อสมาชิกราชวงศ์ ไล่ตั้งแต่กษัตริย์ชาร์ลส พระบิดา, ราชินีคามิลลา พระมารดาเลี้ยง และเจ้าชายวิลเลียม พระเชษฐา
อารมณ์นักอ่าน
ในวันอังคาร แคโรไลน์ เลนนอน วัย 59 ปี พนักงานร้านค้าปลีกและหนอนหนังสือตัวกลั่น รีบพุ่งไปร้านหนังสือวอเตอร์สโตนใจกลางลอนดอน เธอตั้งใจซื้อหนังสือตั้งแต่วันแรกและจะรีบอ่านในทันที
“ฉันชอบเขา ฉันชอบราชวงศ์” เลนนอนกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ เธอเป็นลูกค้าคนแรกและคนเดียวที่ไปคอยตั้งแต่ร้านหนังสือยังไม่เปิด ที่ไม่มีคนเข้าคิวไม่ใช่หนังสือขายไม่ดีแต่เป็นเพราะมีคนพรีออเดอร์มาจำนวนมาก หนังสือบันทึกความทรงจำเจ้าชายแฮร์รี ติดอันดับหนังสือขายดีของเว็บไซต์อเมซอนในอังกฤษ สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมนี และแคนาดาไปแล้ว
ที่สิงคโปร์ ผู้อ่านนามไหล่ เจียง ได้หนังสือเล่มนี้มาครอบครองเช่นกัน
“ผมรู้ว่าบางเรื่องเขาก็พูดถึงคนอื่นในทางที่ผิด แน่นอนผมรู้ดีว่าหลายคนบอกว่าเขาไม่ควรออกมาพูดเรื่องเหล่านั้น แต่ผมเชื่อว่าแฮร์รีควรได้โอกาสพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด”
Spare เป็นการแฉครั้งล่าสุดจากเจ้าชายแฮร์รีและชายาเมแกน นับตั้งแต่ทั้งคู่ยกเลิกการปฏิบัติกรณียกิจในปี 2563 แล้วย้ายไปสร้างชีวิตใหม่ที่แคลิฟอร์เนีย เดือนก่อนเน็ตฟลิกซ์เพิ่งฉายสารคดี “แฮร์รี-เมแกน” ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วเหมือนกัน
สำหรับหนังสือ Spare และการให้สัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี แน่นอนว่าราชวงศ์อังกฤษไม่มีความเห็นเหมือนเดิมและไม่มีทีท่าว่าจะแสดงความเห็นใดๆ ด้วย
เรื่องราวในครอบครัวโด่งดังที่สุดของอังกฤษเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลกเสมอมา นี่คือภาพของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษจากมุมมองของเจ้าชายแฮร์รี
เจ้าชายวิลเลียม: พี่ชายไม่ชอบแฟน
เมื่อก่อนเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีถูกมองว่าใกล้ชิดกันมากหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานาพระมารดาในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีสในปี 2540 แต่มาแตกคอกันนับตั้งแต่เจ้าชายแฮร์รีเสกสมรสกับเมแกน อดีตนักแสดงชาวอเมริกันในปี 2561 ความขัดแย้งหนักถึงขั้นลงไม้ลงมือ เหตุเกิดเมื่อปี 2562 ณ พระตำหนักเจ้าชายแฮร์รีในขณะนั้นที่กรุงลอนดอน หลังพระเชษฐาทรงเรียกเมแกนว่า เป็นคน “เรื่องมาก” “หยาบคาย” “ก้าวร้าว”
“เขาคว้าคอเสื้อผม กระชากสร้อยคอ แล้วผลักผมลงกับพื้น ทับชามข้าวหมาแตก เศษชามข้าวบาดหลัง ผมนอนมึนอยู่พักหนึ่ง แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นมาบอกให้เขาออกจากบ้านไป”
เจ้าชายวิลเลียมทรงท้าทายให้พระอนุชาสู้กลับ แต่เจ้าชายแฮร์รีปฏิเสธ เจ้าชายวิลเลียมเสด็จออกไปแล้วกลับเข้ามาอีกทีด้วยท่าที “ดูเสียใจและสำนึกผิด” ทรงขอไม่ให้เจ้าชายแฮร์รีบบอกเมแกนว่าถูกพระองค์ทำร้าย
กษัตริย์ชาร์ลส: พ่อหลงคนรักเก่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าคามิลลา สมเด็จพระราชินีแผ่นดินอังกฤษ ณ ขณะนี้ คือคนรักเก่าของกษัตริย์ชาร์ลส ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร แต่ด้วยความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง รักนี้ถูกพลัดพราก สตรีผู้เหมาะสมคือเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ อย่างไรก็ตาม ถ่านไฟเก่าคุได้เสมอ เจ้าหญิงไดอานากล่าวโทษว่าคามิลลาทำให้ชีวิตสมรสของพระองค์ล้มเหลว หลายปีหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าฟ้าชายชาร์ลส ณ ขณะนั้นทรงอภิเษกกับคามิลลาสมพระทัย
เจ้าชายแฮร์รีเล่าถึงตอนพบคามิลลาครั้งแรกว่า สองพี่น้องพอใจเธอแต่ขอให้พระบิดาอย่าอภิเษกสมรสด้วย
“แม้วิลลีกับผมขอพ่อว่าอย่าแต่งงานกับเธอ พ่อก็เดินหน้า แม้รู้สึกขมขื่นและเศร้าใจที่ต้องปิดอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของแม่ เราก็เข้าใจว่านี่เป็นคนละเรื่องกัน”
แม้แต่ชื่อหนังสือ “Spare” (ตัวสำรอง) มาจากคำพูดที่เหล่าขุนนางอังกฤษพูดถึงเสมอเรื่องที่จำเป็นต้องมีรัชทายาทและตัวสำรอง เจ้าชายแฮร์รีทรงระบุ เป็นคำที่ว่ากันว่ากษัตริย์ชาร์ลสตรัสกับเจ้าหญิงไดอานาในวันมีพระประสูติกาลเจ้าชายแฮร์รี “เหลือเชื่อเลย ตอนนี้คุณมีทั้งรัชทายาทและตัวสำรองให้ผม งานผมสำเร็จแล้ว”
ใช่ว่าจะมีแต่ลูกฝ่ายเดียวที่เสียใจกับพ่อ พ่อเองก็เสียใจเมื่อลูกชายทะเลาะกัน หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีศพเจ้าชายฟิลิป พระสวามีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในเดือน เม.ย.2564 กษัตริย์ชาร์ลสประทับยืนอยู่ตรงกลางระหว่างพระราชโอรสทั้งสองในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ณ พระตำหนักวินด์เซอร์
“ขอเถอะ เจ้าลูกชาย อย่าทำให้ช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตของพ่อต้องระทมทุกข์เลย” เจ้าชายแฮร์รีกล่าวถึงถ้อยคำของพระบิดา
ราชินีคามิลลา: แม่เลี้ยงตัวปล่อยข่าว
เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน หรือ “ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์” ตอนแต่งงานกันใหม่ๆ ได้รับการยกย่องจากสื่อว่าเป็นความหวังแห่งราชวงศ์ยุคใหม่ แต่ไม่นานทั้งสองฝ่ายกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาถึงขั้นเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนฟ้องร้องสื่อรุกล้ำความเป็นส่วนตัว
เจ้าชายแฮร์รีทรงกล่าวหา สมาชิกราชวงศ์อังกฤษสมคบคิดกับสื่อเพื่อให้ตนเองได้ลงข่าวดีๆ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีคามิลลาที่ทรงพยายามฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตนเองในสายตาประชาชนอังกฤษ หลังมีสัมพันธ์กับกษัตริย์ชาร์ลสที่ 3 มายาวนาน
“นั่นทำให้เธอเป็นตัวอันตรายเพราะคอนเนคชันที่เธอสร้างกับสื่ออังกฤษ เป็นความปรารถนาอย่างเปิดเผยของทั้งสองฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ด้วยฐานะครอบครัวที่มีลำดับชั้นและด้วยความที่เธอกำลังจะเป็นราชินี จึงต้องมีคนหรือศพถูกทิ้งไว้บนถนน ผมไม่มองว่าเธอเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย มองว่าเป็นคนที่แต่งงานเข้ามาอยู่ในสถาบันนี้แล้วต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของเธอเอง”
ทั้งหมดนี้คือภาพของสมาชิกคนสำคัญในราชวงศ์อังกฤษจากมุมมองของเจ้าชายแฮร์รี จะจริงหรือไม่จริงยากที่คนนอกจะบอกได้ แม้สื่ออังกฤษจะรายงานข่าวราชวงศ์ได้อย่างเปิดเผย แต่สิ่งที่เปิดเผยได้ 100% ก็อาจไม่ใช่ความจริง 100% โจทย์ต่อไปสำหรับเจ้าชายแฮร์รีคือเมื่อเปิดโปงกันขนาดนี้แล้วคงยากที่พระองค์จะกลับไปคืนดีกับญาติพี่น้องได้