มลพิษทางเสียงจากมนุษย์ ตัวการทำลายสุขภาพ-ประชากรโลมา
สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ พบว่า โลมาสื่อสารได้ยากลำบาก เนื่องจากมลพิษทางเสียงเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์
เพอร์นิล เมเยอร์ โซเรนเซน นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยบริสทอล ผู้นำทีมวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยโลมาและมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ เผยว่า “เราทราบจากผลวิจัยก่อนหน้าแล้ววว่า มลพิษทางเสียงส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ แต่การวิจัยครั้งแรกของเราเป็นการศึกษาว่า เสียงส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันของสัตว์อย่างไร”
ทีมวิจัยศึกษาจากโลมาปากขวดสองตัว ได้แก่ เดลตาและรีซ ในทะเลสาบทดลองกับเหล่าผู้ฝึกสอน โดยโลมาแต่ละตัวจะติดตั้งแท็กติดตามการเคลื่อนไหวและเสียงบนช่องลมชั่วคราว จากนั้นคอยวัดระดับเสียงและพฤติกรรมของโลมา
นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อโลมาเจอกับระดับเสียงที่เพิ่มขึ้นของกิจกรรมมนุษย์ โลมาจะผิวปากนานเป็นสองเท่าและให้ดังขึ้นเพื่อเอาชนะเสียงรบกวนต่างๆ
แม้เดลตาและรีซใช้ความพยายามอย่างมากที่สุด ทั้งสองจะมีโอกาสเจอกัน 85% เมื่ออยู่ในช่วงทดลองด้วยเสียงรบกวน แต่จะมีโอกาสเจอกันเพียง 62.5% เมื่อประสบกับมลพิษทางเสียงระดับสูงมาก
ซึ่งเสียงรบกวนในการทดลองอยู่ที่ระดับ 150 เดซิเบล แต่เสียงจากเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่เคลื่อนที่ในมหาสมุทรมีความดังถึงระดับ 200 เดซิเบล
ทั้งนี้ โลมาเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลที่อาศัยการผิวปากและตำแหน่งเสียงสะท้อนในการสื่อสารกับโลมาตัวอื่น เพื่อออกล่าและสืบพันธุ์ แต่มลพิษทางเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการขนส่งทางเรือและการก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นักวิจัยกล่าวว่า หากโลมาไม่สามารถสื่อสารกันได้ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพโลมาและประชากรโลมาได้ เนื่องจาก “เสียง” ถือเป็นสัญชาตญาณที่สำคัญที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล
และโซเรนเซนกังวลว่า เมื่อโลมาป่าหรือโลมาที่โตในธรรมชาติเจอกับมลพิษเสียงที่มากกว่าเสียงในศูนย์วิจัย อาจประสบปัญหาแย่กว่าเดลตาและรีซ