แผนเลี่ยงลดเสี่ยง"โลมาอิรวดี" โครงการสะพานทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา
ในพื้นที่ภาคใต้ มีพื้นที่เกาะทีสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ หลายแห่ง นำไปสู่แผนการสร้างสะพานเชื่อมพื้นที่เกาะแต่การก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องคำนึงถึงจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย และสัตว์ทะเลอย่าง"โลมา"หลายๆชนิด
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้อนุมัติในหลักการการดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 4,829.25 ล้านบาท
และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท ภายในกรอบวงเงิน 1,849.5 ล้านบาท
“ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดและทางเชื่อมระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่และเกาะตามลำดับซึ่งจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้ารวมทั้งยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 มีมติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว แม้พื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งบริเวณทางด้านทิศเหนือของโครงการห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี1 โดยพื้นที่หากิน (Home Range) ของโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ประมาน 100 ตารางกิโลเมตร โลมาอิรวดีส่วนใหญ่อาศัยตรงกลางร่องน้ำส่วนลึก สำหรับขอบเขตพื้นที่หากินของโลมาอิรวดีด้านล่างนั้นห่างจากพื้นที่ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างแนวสะพานประมาณ 6 กิโลเมตร ในช่วงดำเนินการก่อสร้างแนวสะพานคาดว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดีในระดับต่ำ
ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง - สงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ประกาศ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2561