ผู้นำจี7 เมินประชุมดาวอส นายกฯ เยอรมนีมาคนเดียว
ผู้นำจี7 เมินประชุมดาวอส นายกฯ เยอรมนีมาคนเดียว โดย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำกลุ่มประเทศทรงอิทธิพลไม่เข้าร่วมประชุม ในรอบสิบปีที่ผ่านมา หลายครั้งที่มีผู้นำจี7 เพียงสองหรือสามคนเท่านั้นที่เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี เป็นผู้นำเพียงคนเดียวจากกลุ่มประเทศจี7 ที่จะเข้าร่วมการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ณเมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ โดยจะกล่าวปาฐกถาบนเวทีหลักเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2564
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำกลุ่มประเทศทรงอิทธิพลไม่เข้าร่วมประชุม ในรอบสิบปีที่ผ่านมา หลายครั้งที่มีผู้นำจี7 เพียงสองหรือสามคนเท่านั้นที่เข้าร่วม เช่น ปี 2560 นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์แห่งสหราชอาณาจักรมาคนเดียว ทั้งๆ ที่ปีนั้นประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนก็มา เหตุผลที่ไม่ร่วมเวทีดาวอสส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าช่วงหลังๆ ผู้นำจี7 ร่วมดาวอสลดลงมาก ปีที่ทุบสถิติคือ 2561 ผู้นำจี7 ร่วมประชุมดาวอส 6 คน รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาร่วมประชุมสองครั้งในการดำรงตำแหน่งหนึ่งสมัย ต่างจากอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ไม่เคยมาประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมเลย
การประชุมปีนี้ ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง”กลับมาทำตามธรรมเนียมเดิมอีกครั้งหลังถูกโควิดทำป่วนไปสองปี ปี 2564 ต้องจัดแบบออนไลน์ ส่วนปี 2565 จัดในเดือน พ.ค. ไม่ใช่เดือน ม.ค.อย่างที่เคยทำ กระนั้นยังเต็มไปด้วยคนดังจากทุกวงการตั้งแต่ภาคธุรกิจ การเงิน การเมือง สื่อ นักวิชาการ และประชาสังคม วิทยากรหลัก อาทิ ประธานาธิบดีซิริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้, เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ, ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก, แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และไอดริส เอลบา นักแสดง
สำหรับโชลซ์มีกำหนดแสดงปาฐกถาพิเศษในวันพุธ (18 ม.ค.) เวลา 15.45 น.ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนผู้นำจี7 คนอื่นๆ อาจมีเหตุผลส่วนตัวที่ไม่มา เอ็ด โอเวน อดีตที่ปรึกษาการเมืองและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาเดอะ สตอรี เน็ตเวิร์ก เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า นักการเมืองย่อมระแวดระวังไม่ให้ถูกมองว่า “เข้าไปพัวพันกับผู้นำการเงินโลก” การใช้ชีวิตสนุกสนานในดาวอสท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันย่อมเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียง
สถานการณ์ที่ว่า ได้แก่ เงินเฟ้อทั่วโลกสูงเสียดฟ้า รายงานก่อนการประชุมดับเบิลยูอีเอฟ ชี้ว่า วิกฤติค่าครองชีพเป็นภัยคุกคามใหญ่สุดของโลกทุกวันนี้ ตอกย้ำผลกระทบของวิกฤติพลังงาน การขาดแคลนอาหาร และราคาสินค้าแพงที่มีต่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่สุด
นักการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็กของอังกฤษมีปัญหาเฉพาะ ประเด็นหนึ่งที่พรรคแรงงานฝ่ายค้านนำมาโจมตีคือเขาไม่สนใจชีวิตชาวบ้าน บัญชีมหาเศรษฐีของหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ส ประเมินว่า ซูแน็กและภริยามั่งคั่งราว 730 ล้านปอนด์ (2.9 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลยืนยันว่า สหราชอาณาจักรส่งแกรนต์ แชปป์ส รัฐมนตรีธุรกิจ และเคมี บาเดนอช รัฐมนตรีการค้า มาร่วมประชุมดับเบิลยูอีเอฟ ขณะที่ซูแน็ก “ยังคงมุ่งมั่นกับงานเพื่อแก้ปัญหาของชาวอังกฤษ” โดยที่รัฐบาลรู้สึกถึงความสำคัญในการสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และประกาศเรื่องราวของสหราชอาณาจักรให้เป็นที่ประจักษ์บนเวทีโลก
ขณะเดียวกัน เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงานและราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีธุรกิจเงาก็ไปร่วมประชุมด้วย
ระยะหลังการประชุมดาวอสตกเป็นเป้าวิจารณ์มากขึ้นเรื่องๆ บางคนกล่าวหาว่า ผู้ร่วมงาน เป็นพวกชนชั้นนำปากว่าตาขยิบ เช่น เดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพื่อถกปัญหาโลกร้อน
ปี 2562 รุตเกอร์ เบรกแมน นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ กล่าวว่า ผู้ร่วมงานหลายคนพร่ำพูดเรื่อง “การมีส่วนร่วม ความยุติธรรม เสมอภาค โปร่งใส” แต่จ่ายภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น