"ยกระดับสลัมมุมไบ"ภาระกิจหินบริษัทอสังหาฯของ"โกตัม อดานิ"

"ยกระดับสลัมมุมไบ"ภาระกิจหินบริษัทอสังหาฯของ"โกตัม อดานิ"

ตอนนี้ ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสลัมมุมไบ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของอินเดีย กำลังต่อต้านแผนยกระดับสลัมของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของมหาเศรษฐีพันล้าน"โกตัม อดานิ" โดยชาวสลัมจำนวนมากแสดงท่าทีไม่พร้อมปรับตัวรับวิถีชีวิตแบบใหม่ตามแผนพัฒนาเมืองของรัฐบาล 

ตอนนี้ ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสลัมมุมไบ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของอินเดีย กำลังต่อต้านแผนยกระดับสลัมของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของมหาเศรษฐีพันล้าน"โกตัม อดานิ" ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นปัญหาเหมือนประเทศอื่นทั่วโลกแต่สำหรับอินเดีย ปัญหาความขัดแย้งจะมีที่มาที่ไปที่สลับซับซ้อนมากกว่า

สลัมธาราวีในมุมไบ ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ปี 2427 ในยุคอาณานิคมอังกฤษ ขยายพื้นที่เป็นทวีคูณ เนื่องจากรัฐบาลกลางในยุคนั้นแยกชุมชมคนยากจนออกจากพื้นที่หลักของเมืองมุมไบ ขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดียในชนบทที่ต้องการหางานทำในมุมไบ ก็ยิ่งทำให้จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น

ผู้อาศัยอยู่ในสลัมธาราวี 12,000 คน ประกอบธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจภาพยนต์ ผลิตรองเท้า ผลิตเสื้อผ้า และผลิตและขายอาหารแต่ผู้คนทำงานและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นและขาดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านพื้นฐานทั้งหลาย โดยเฉพาะ ห้องน้ำ จนทำให้เกิดการเรียกร้องให้ยกระดับสลัม 

แต่การปรับปรุงพื้นที่สร้างความกังวลต่อบรรดานักการเมือง สถาปนิกวางผังเมืองและประชาชนจำนวนมาก อย่าง“กันติ ไบ” วัย 70 ปี ที่ขายผักในสลัมมานานกว่า 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิเอเชียว่า “ชาวสลัมอย่างฉันอยู่ที่นี่มาหลายสิบปี จู่ ๆ มาบอกว่าเราจะต้องย้ายไปอยู่บ้านที่ดีกว่าเดิม แต่ไม่มีใครถามเราเลยสักคำว่าเราอยากย้ายมั้ย เราอยู่ที่นี่ ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว”
 

สาเหตุหลักๆที่เป็นข้อกังวลและทำให้คนในสลัมต่อต้านโครงการนี้้คือ การพัฒนาพื้นที่อาจทำลายระบบนิเวศเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้วของสลัม และผู้จัดทำโครงการไม่ได้รับรองว่าประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ใหม่ได้

สัญญาปรับปรุงสลัมธาราวีถือครองโดย “อดานิ เรียลตี” ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัทอดานิกรุ๊ป ซึ่งบริหารโดยโกตัม อดานิ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในอินเดีย 

สัญญานี้มีมูลค่า 613 ล้านดอลลาร์จัดทำขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2565 ซึ่งการพัฒนาที่ดิน 300 เอเคอร์ หรือประมาณ 303,514 ตารางวา ใช้เวลามากกว่า 7 ปี อดานิกรุ๊ป จึงเสนอสัญญาให้บ้านฟรีแก่ผู้พักอาศัยที่มีสิทธิ์ พร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ประชาชนบอกว่าสัญญาที่เสนอให้พวกเขาไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

“ปรีติ ชาร์มา เมนอน” ผู้นำพรรคอามอาดมี พรรคฝ่ายค้านในรัฐบาล บอกว่า โครงการยกระดับสลัมมุมไบว่าเป็นเรื่องหลอกลวง
 

“เตรียมตัวให้พร้อมรับเรื่องหลอกลวงที่ใหญ่ที่สุดในมุมไบ คนยากจนจะไร้ที่อยู่ จะถูกพรากวิถีชีวิต และพื้นที่สลัมจะเปลี่ยนเป็นแฟลตสำหรับคนรวย อดานิและเดเวนดรา ฟานาวิส มุขมนตรีรัฐมหาราษฏระจะรวยยิ่งขึ้น” ปรีติทวีตและใส่แฮชแท็ก #DharaviScam ในทวิตเตอร์ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังเชื่อมั่นในโครงการยกระดับสลัมธาราวี  โดย "วีอาร์ ศรีนิวาศ" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)โครงการบอกว่า  การปรับโฉมสลัมนี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และปรับปรุงระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นระบบระเบียบ มากขึ้น

“นอกเหนือจากที่พักอาศัยแล้ว โครงการจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมให้สลัมธาราวี เช่น โรงพยาบาลและสนามเด็กเล่น พร้อมทั้งโครงสร้างพื้นทางกายภาพเช่น ถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ การปรับปรุงธาราวีเป็นก้าวแรกในการปลดปล่อยสลัมและเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองให้ดีขึ้น” ซีอีโอ โครงการฯ กล่าว

“ลักษมิกันต์ ปาติล” ชาวบ้านกุมภารวาดะ พื้นที่หนึ่งในธาราวีที่เป็นช่างปั้นหม้อดินร่วม 500 ชีวิต บอกว่า “อาชีพผมกำหนดให้เราต้องใช้พื้นที่กว้างไม่จำกัด ซึ่งธาราวีที่ผมอาศัยอยู่มา 25 ปี มีพื้นที่ที่เหมาะสมมาก ธุรกิจของผมอาจจบลงถ้าต้องย้ายไปอยู่ห้องชั้น 10 สินค้าของเราเปราะบาง การขึ้นลงตึกสูงอาจทำให้เครื่องใช้แตกหักเสียหาย เราต้องมีเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา และผมยังสงสัยว่าแฟลตเล็ก ๆ จะอนุญาตให้ใช้เตาเผาได้หรือไม่”

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชน มองว่า โครงการยกระดับสลัมเป็นโครงการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านคนจน

“ลีโอ ซัลดานา” กลุ่มสนับสนุนสิ่งแวดล้อมจากเมืองเบงกาลูรู ที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนของชุมชนในท้องถิ่น กล่าวว่า “แผนพัฒนาที่ดินมาจากจินตนาการของคนรวยและอาศัยประโยชน์จากความมั่งมี กระทบต่อเสรีภาพของพลเมืองที่สร้างธาราวีขึ้นมาด้วยตนเอง โดยไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”

นอกจากนี้ ยังมีคนอื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้เต็มไปด้วยความท้าทายทางด้านโลจิสติกและขาดวิสัยทัศน์

“เปรม จันทวรการ์” สถาปนิกจากบังกาลอร์ บอกว่า “ชาวสลัมไม่สามารถปรับตัวได้ดีในตึกสูง เนื่องจากวิถีชีวิตและการทำงานกำหนดให้พวกเขาต้องอยู่ติดดิน และการศึกษาทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าพื้นที่ยากจนในตึกสูงไม่ได้ก่อให้เกิดอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในสลัมด้วย”