“เศรษฐกิจถดถอย”หนุนมนุษย์เงินเดือนเอเชียลาออกครั้งใหญ่
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายคนบอกว่าปีที่แล้ว“เผาหลอก” ส่วนปีนี้คือการ“เผาจริง”ในแง่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ล่าสุด ลิงค์อิน ได้เผยแพร่ผลสำรวจที่สนับสนุนมุมมองของนักวิเคราะห์และสะท้อนภาพรวมของตลาดแรงงานในภูมิภาค
รายงานสำรวจชิ้นนี้ของลิงค์อิน ระบุว่า แม้ข่าวปลดพนักงานและการจ้างงานจะแผ่วลง แต่พนักงานในเอเชียมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองและพร้อมจะลาออกจากงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ทำให้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Great Resignation ที่ยังมีอยู่ในสหรัฐ ยังคงมีอยู่ในเอเชียด้วย
The Great Resignation คือ กระแสการลาออกจำนวนมากของพนักงานในช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อโควิดซาและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กระแสนี้ เป็นสิ่งที่องค์กรต้องจับตาและเร่งเตรียมแผนรองรับ หากไม่อยากสูญเสียพนักงานมากความสามารถออกจากองค์กร
ผลสำรวจล่าสุด มาจากการค้นหางานของผู้ใช้งานลิงค์อินมากกว่า 4,000 คนทั่วประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งสำรวจพบว่า พนักงาน 63% ในอินเดีย และ 43% ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ บอกว่า พวกเขามีความมั่นใจในการหางานใหม่มากกว่าปีที่แล้ว
แม้ยังมีความกังวลต่อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ตลาดแรงงานยังสะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่มากขึ้นและพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
“ปูจา ชาเบรีย” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจากลิงค์อิน กล่าวว่า “ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานมืออาชีพจำนวนมากใช้ช่วงเวลานี้เสริมสร้างอาชีพด้วยการเพิ่มทักษะการทำงาน ลงทุนในเครือข่ายที่มีแนวโน้มการเติบโต และให้สอดคล้องกับอาชีพที่พวกเขาสนใจอย่างแท้จริง”
ผลวิจัยลิงค์อิน ยังระบุว่า พนักงานที่ถูกสุ่มสำรวจในออสเตรเลียและอินเดียประมาณ 50% พร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เห็นได้จาก จำนวนผู้ใช้งานลิงค์อินที่เพิ่มทักษะการทำงานในหน้าประวัติตนเองมากขึ้น 43% เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ลูกจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะการทำงานของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อให้ได้งานใหม่ที่ดีกว่าในอนาคต
“เมื่อผู้เชี่ยวชาญเพิ่มทักษะการทำงาน พวกเขาจะได้รับทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้มากขึ้น ซึ่งสามารถสมัครงานได้จำนวนมากและมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาตำแหน่งงานไว้” ชาเบรีย ระบุ
ทำไมพนักงานอยากลาออก?
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ บรรดาพนักงานมีอำนาจต่อรองในเรื่องงานมากขึ้นในปี 2565 เนื่องจากมีการเปิดรับสมัครงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์
รีโมทเวิร์ก หรือการทำงานที่สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้พนักงานมีอิสระในการทำงานเวลาใดและที่ใดก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ
“เราเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 คือ ผู้คนต้องการทำงานที่ใดก็ได้ที่ให้อิสระมากขึ้น หรือให้เงินมากกว่าเดิม หรือสนุกกับการทำงานมากกว่านี้ หรือบางคนอาจต้องการทั้งสามอย่าง” ชาเบรียกล่าว
เหตุผลที่ทำให้พนักงานส่วนใหญ่อยากเปลี่ยนงาน ประกอบด้วยเรื่องหลักๆ 3เรื่องด้วยกัน คือ
1. เงินเฟ้อ
ลิงค์อิน ระบุว่า ความกดดันจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูง อาจผลักดันให้แรงงานหางานอื่นที่ให้ค่าจ้างมากกว่า จากผลการวิจัย พบว่า ความทะเยอทะยานหางานใหม่ที่มีรายได้ก้อนโตเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุผลหลักของการหางานอื่น
แรงงาน 58% ในสิงคโปร์ 49% ในออสเตรเลีย และ 45% ในอินเดีย บอกว่า พวกเขาสมัครใจที่จะยุติบทบาทการงานในปัจจุบันเพื่อไปทำงานที่ให้เงินตอบแทนค่าเหนื่อยที่มากกว่า
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า เงินเฟ้อในเอเชียอาจถึงจุดสูงสุดก่อนสหรัฐและยุโรป และเงินเฟ้ออาจต่ำกว่าด้วย
นอกจากนี้ พนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า พวกเขากำลังมองหาบางอย่าง และจากแบบสำรวจค่าตอบแทนประจำปีทั้งหมดของเมอร์เซอร์ พบว่า บริษัทหลายแห่งในภูมิภาคนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานโดยเฉลี่ย 4.8% ในปีนี้ และบริษัทในอินเดียคาดว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุด 9.1%
2.หาความลงตัวระหว่างชีวิตและการทำงาน
เทรนด์ที่เพิ่มขึ้นในปี 2565 ที่มาพร้อมกับวลีที่ว่า “เลิกทำงานเกินหน้าที่” (quiet quitting) ไปจนถึง “ถ่างผิง” (tang ping) ที่คนทำงานรุ่นใหม่ในจีนจำนวนมากอยากอยู่เฉย ๆ ใช้ชีวิตชิลๆ ให้เวลาหมดไปวัน ๆ จุดประกายแสงสว่างแก่แรงงานที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และทำให้แรงงานรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตนอกเวลาทำงาน
ผลสำรวจแรงงานในอินเดีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย 30% พบว่า การปรับสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน เป็นกุญแจสำคัญต่อตลาดแรงงานในปีนี้
สิ่งที่นายจ้างในภูมิภาคนี้ควรกังวล คือ แรงงานที่ทำงานหนักมากเกินไป จนไม่มีความรู้สึกมุ่งมั่นต่องานที่ทำอยู่
3.ความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน
แรงงานเจอปัญหาถูกปลดออกจากงานและมีความทุกข์มากขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งรายงานของแกลลัพ ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 60% แยกตัวออกจากอารมณ์ หรือพยายามไม่รู้สึกใด ๆ และ 19% มีความทุกข์ใจ
ชาเบรีย กล่าวว่า งานที่ไม่มีการเติบโต หรือไม่มีความก้าวหน้า ยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ผู้คนรู้สึกปลงกับชีวิต และอยากลาออกจากงาน
การค้นหางานในลิงค์อิน ทำให้พบว่า แรงงาน 67% ในออสเตรลียและ 68% ในสิงคโปร์ เชื่อว่านายจ้างของตนไม่ลงทุนให้กับความก้าวหน้าในอาชีพของพวกเขา
“ความเคลื่อนไหวภายในมีความสำคัญมากต่อทุกอุตสาหกรรมในขณะนี้ เนื่องจากองค์กรพยายามพัฒนา หรือปรับปรุงเพื่อรักษาพนักงานตนเองไว้ และลดต้นทุนด้านการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ แต่แรงงานต้องการให้บริษัทลงทุนให้กับพวกเขา โดยการให้ความรู้และพัฒนาโอกาสต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเพื่องานในอนาคต” ชาเบรีย กล่าว