‘เรตติ้งตก-ชีวิตส่วนตัว’ ชนวนนายกฯ หญิงนิวซีแลนด์ลาออก
นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารประเทศผ่านพ้นวิกฤติไม่ว่าจะเป็นการโจมตีก่อการร้าย ภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรง และโควิด-19 ระบาด แต่จู่ๆ กลับประกาศลาออก เรื่องนี้ต้องมีเหตุผลเบื้องหลัง
-มีการพูดเรื่องนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ลาออก มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
-เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์จาก Democracy Project มองเรตติ้งพรรค-ส่วนตัวไม่ดี
-ชีวิตส่วนตัวเป็นเหตุผลสำคัญให้ต้องลาออก
เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชีย (CNA) คุยกับผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคน หาเบื้องหลังที่นายกฯ อาร์เดิร์น ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งในเดือนหน้า โดยให้เหตุผลว่า หมดไฟที่จะเป็นผู้นำต่ออีกสี่ปี
เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์จาก Democracy Project เผย CNA ว่า แม้คำประกาศของเธอจะสร้างความประหลาดใจให้กับชาวนิวซีแลนด์ แต่มีการพูดคุยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปีก่อน
“จาซินดา อาร์เดิร์นเหนื่อย เป็นห้าปีที่หนักหน่วงมาก ช่วงนี้พรรคของเธอเรตติ้งไม่ดีด้วย” พรรคแรงงานของอาร์เดิร์นชนะเลือกตั้งในปี 2563 มาด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่คะแนนนิยมตอนนี้อยู่ที่ 30%เศษ
“พรรคของเธอเริ่มไม่เป็นที่นิยม ตัวจาซินดา อาร์เดิร์นเองก็เริ่มไม่ค่อยเป็นที่นิยม” มิลเลอร์กล่าวต่อ
ด้านริชาร์ด ชอว์ อาจารย์สอนการเมืองจากมหาวิทยาลัยแมสซีย์ในนิวซีแลนด์ อธิบายว่า คะแนนนิยมตกต่ำเป็นผลจากแรงต้านทางสังคมและเศรษฐกิจผสมกัน ผลการเลือกตั้งปี 2563 แสดงถึงการสนับสนุนการเป็นผู้นำของอาร์เดิร์นหลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ไครส์ตเชิร์ช เมื่อปี 2562 และวิธีบริหารประเทศของเธอในปีแรกที่โควิดระบาด
หลังจากนั้นเกิดความแตกแยกในสังคม ต้นปี 2565 ผู้ประท้วงยึดพื้นที่รัฐสภากลายเป็นความรุนแรง นอกจากนี้ความรู้สึกขวาจัด ต่อต้านวัคซีน และเกลียดผู้หญิงยังเต็มโลกออนไลน์ ผสมผสานกับแรงต้านทางเศรษฐกิจ เช่น สินค้าราคาแพง ปัญหาซัพพลายเชน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับจีน ตลาดส่งออกใหญ่สุดของนิวซีแลนด์
เหล่านักวิเคราะห์ยอมรับด้วยว่า ชีวิตส่วนตัวเป็นเหตุสำคัญทำให้เธอลาออก
“เธอเหนื่อย หมดไฟ หลังกลับจากหยุดปีใหม่ในนิวซีแลนด์ก็ตัดสินใจว่า เธอไม่อยากไปต่อ” มิลเลอร์เสริม
จุดแข็งคือจุดอ่อน
อาร์เดิร์นมีชื่อเสียงเรื่องความสามารถในการจัดการวิกฤติระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับการยกย่องจากนานาชาติเรื่องการจัดการการโจมตีก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศ จากการกราดยิงสองมัสยิดในปี 2562 คร่าชีวิตศาสนิก 51 คน และภูเขาไฟมรณะระเบิดในปี 2563 ส่วนการนำพาประเทศฝ่าโควิดเธอใช้วิธีปิดประเทศ ตนเองก็ไม่ไปไหนเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน
แม้โควิดทำให้เธอมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ แต่กลายเป็นความแตกแยกภายในนิวซีแลนด์เอง ปัญหาภายในประเทศทำให้คนแตกเป็นสองขั้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพและค่าบ้าน และปัญหาเกี่ยวข้องกับชนเผ่าเมารี
“เธอเป็นบุคคลสำคัญมากในรัฐบาล สำคัญกว่ารัฐมนตรีในคณะ และผมเดาว่า จุดแข็งของเธอสุดท้ายกลายเป็นจุดอ่อน” มิลเลอร์แสดงทัศนะ
ขณะที่ชอว์มองว่า ภาพอาร์เดิร์นสวมผ้าคลุมศีรษะหลังเหตุสังหารหมู่ที่ไครส์ตเชิร์ชสะท้อนสไตล์การเป็นผู้นำของเธอ เธอแสดงบทบาทผู้นำประเทศด้วยท่าทีสงบ เห็นอกเห็นใจ โอบอ้อมอารี อบอุ่นท่ามกลางสภาพแวดล้อมวุ่นวาย ไม่แน่ชัด และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แนวทางของเธอยังชี้ชัดถึงความแตกต่างจากผู้ชายห้าวๆ หวังคะแนนเสียง ที่มักอาศัยวาจาก้าวร้าว แตกแยก และดูหมิ่นดูแคลน
“จาซินดา อาร์เดิร์น ไม่เคยพูดถึงใครในฐานะศัตรู เธอพยายามวาดภาพและทำการเมืองในสไตล์ของคนที่โตกว่าและปรองดองมากกว่าบางคนในการเมืองระหว่างประเทศที่เราเห็น” ชอว์สรุป
ใครจะนำทัพต่อ
พรรคแรงงานจะลงคะแนนเลือกผู้นำใหม่ในวันอาทิตย์ (22 ม.ค.) การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.
แกรนท์ โรเบิร์ตสัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิเสธลงชิงตำแหน่ง แม้ถูกมองว่าเขาคือทายาททางการเมือง ชอว์กล่าวว่าคนที่อาวุโสในพรรคจะเข้ามา เช่น เดวิด ปาร์เกอร์ รัฐมนตรียุติธรรม, เมแกน วูดส์ รัฐมนตรีการเคหะ และ คริส ฮิปกินส์ รัฐมนตรีตำรวจ แนวหน้ารับมือโควิด
ขณะที่มิลเลอร์แนะให้จับตา คีรี อัลลัน รัฐมนตรียุติธรรม “เธอคือผู้หญิงเมารี และจะเป็นนายกฯ เมารีคนแรกของนิวซีแลนด์ เป็นผู้หญิงเหมือนกัน เธอเป็นเลสเบี้ยนด้วย มีความเป็นครั้งแรกหลายอย่าง”