"อังกฤษ" เอาจริง แบน อุปกรณ์กินอาหาร "พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง" ต.ค. ปีนี้
ตั้งแต่ ต.ค. ปีนี้ อังกฤษจะประกาศใช้มาตรการห้ามใช้อุปกรณ์จากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ช้อน ส้อม จาน ชาม ถาด ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
ตามประกาศบนเว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า จะเริ่มบังคับใช้มาตรการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) โดยจำกัดการขายช้อนส้อม จาน ชาม ถาด ก้านลูกโป่ง รวมถึงถ้วยพลาสติกและภาชนะบรรจุอาหารบางประเภท ในเดือนต.ค. ของปีนี้
เมื่อประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ผู้คนจะไม่สามารถซื้อหรือรับอุปกรณ์รับประทานอาหารพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมไปถึงถาดแบบใช้ครั้งเดียว ถ้วยโพลีสไตรีนและภาชนะบรรจุอาหารบางประเภทจากภาคธุรกิจการบริการต่าง ๆ ทั้งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร บริการนำอาหารกลับบ้านได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมถึง พลาสติกประเภทอื่น ๆ ที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยรัฐบาลกล่าวว่าจะใช้มาตรการอื่นจัดการกับพลาสติกเหล่านี้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์รับประทานอาหารที่มาพร้อมกับอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศอยู่ใน “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลของสถาบันพลาสติก (Plastics Institute of Thailand) อธิบายถึง EPR ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่าง ๆ ของ “วงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์” ตั้งแต่การเริ่มต้นคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ จนนำมาสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก ให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และส่งผลเสีย หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
กระทรวงสิ่งแวดล้อมประมาณการว่า ในแต่ละปีชาวอังกฤษใช้จานแบบใช้แล้วทิ้ง กว่า 1,100 ล้านใบ และใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้ครั้งเดียวราว 4,250 ล้านชิ้น หรือเฉลี่ยเท่ากับจานใช้แล้วทิ้งคนละ 20 ใบ และอุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง 75 ชิ้นต่อคน
ที่สำคัญ คือ มีเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จากข้อมูลของรัฐบาลระบุว่าช้อนส้อมพลาสติกเป็น 1 ใน 15 สิ่งของที่ถูกทิ้งเป็นขยะมากที่สุดของสหราชอาณาจักร
มาตรการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมขอบเขตอำนาจของกฎเกี่ยวกับพลาสติกเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2561 สหราชอาณาจักรประกาศห้ามใช้ไมโครบีดส์ (Microbeads) เป็นพลาสติกจิ๋ว ที่มักใช้เติมลงในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ เนื่องจากมีความกังวลว่าจะลงไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำและจะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
จากนั้นในปี 2563 ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติกและไม้คนเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงสำลี ต่อมาในปี 2565 เก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 30% ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน และยกเลิกการแจกฟรีถุงพลาสติกในสถานที่ต่าง ๆ โดยผู้ที่ต้องการใช้ ต้องจ่ายในราคาขั้นต่ำ 5 เพนนีต่อใบ และในอนาคตจะปรับราคาขั้นต่ำขึ้นเป็น 10 เพนนีต่อใบ ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้หลายพันล้านใบต่อปี
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของรัฐบาลอังกฤษเกิดขึ้นหลังจากสกอตแลนด์และเวลส์ อันเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรออกกฎหมายจำกัดการใช้อุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเมื่อปี 2565 และตามหลังสหภาพยุโรปที่ออกมาตรการมาตั้งปี 2564
รีเบกกา พาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษกล่าวว่า “การออกคำสั่งห้ามใช้พลาสติกที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่าเรามุ่งมั่นที่จะกำจัดขยะพลาสติกที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ให้ได้ทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะใช้จัดการกับปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ โดย จอห์น วิดัล นักข่าวและอดีตบรรณาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักข่าว The Guardian ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งห้ามของอังกฤษนั้น จำกัดขอบเขตที่แคบเกินไป เนื่องจากไม่ครอบคลุมขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและถุงพลาสติก รวมถึงไม่มีมาตรการควบคุมการเผาขยะพลาสติกด้วยเตาเผาขยะ
ขณะที่ เม็ก แรนเดิลส์ นักรณรงค์ขององค์กร Greenpeace UK ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวสายเกินจะแก้อะไรได้แล้ว และเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ไม่สามารถช่วยยับยั้งปัญหาขยะพลาสติกได้
ทั้งนี้ อังกฤษกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการประกาศแบนบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม ได้แก่ กระดาษชำระแบบเปียก ตัวกรองยาสูบ และซองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ระบุวิธีกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างถูกต้องบนฉลาก รวมถึงกำลังพัฒนาโปรแกรมการส่งขวดบรรจุภัณฑ์คืน
การห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่รัฐบาลทั่วโลกใช้เพื่อควบคุมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เมื่อเดือนมี.ค. 2565 สหประชาชาติมีการร่างสนธิสัญญาพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลาสติกล้นโลก โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งนับว่าเป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่มีความตกลงปารีส (Paris agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2558