ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส หนุนคนรุ่นใหม่ไทยร่วมสานฝัน
เมื่อพูดถึงฝรั่งเศส หลายคนจะนึกถึงดินแดนแห่งแฟชั่นระดับไฮเอนด์ น้ำหอมแบรนด์ดัง หอไอเฟล พระราชวังแวร์ซายส์ ดินแดนแห่งต้นกำเนิดศิลปะ-วัฒนธรรมและประติมากรรมมากมาย แต่ที่เด็ดไปกว่านั้น ฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์นับไม่ถ้วน
ในรายงานชิ้นนี้ กรุงเทพธุรกิจจะพาไปรู้จักฝรั่งเศสให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้นผ่านนิทรรศการ “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส รวมทั้งสร้างแรงบันใจให้คนรุ่นใหม่
ภายในงานได้จัดเวทีมีทแอนด์ทอล์กกับ ดร.โกลดี แอเญอเร และพลเอกฌ็อง-ปีแยร์ แอเญอเร สองนักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส ให้คนไทยได้รู้เบื้องหลังชีวิตของพวกเขาในช่วงที่ปฏิบัติภารกิจนอกโลก ซึ่งดร.แอเฌอเรเล่าว่า “นักบินอวกาศต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์หลายด้าน เช่น ด้านวิศวกรรม มีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ขณะที่ภาษารัสเซียก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างรัสเซียและฝรั่งเศสบนสถานีอวกาศด้วย”
หลายคนสงสัยการทำงานบนโลกกับบนสถานีอวกาศว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ดร.แอเฌอเร บอกว่า “ในสถานีอวกาศเราอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก การทำงานบนนั้นทำได้ยากลำบากมากกว่าบนโลก”
ส่วนการปฏิบัติภารกิจบนอวกาศเป็นระยะเวลานานส่งผลต่อการมองโลกอย่างไร พลเอกแอเฌอเร เล่าว่า “ตอนอยู่บนสถานีอวกาศ โลกเรามีขนาดใหญ่มาก มองได้ไกลแบบไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อลงมาบนโลก การมองเห็นของเราสามารถมองได้แค่ระยะเดียว มองได้จำกัด จึงส่งผลกระทบต่อสายตาของนักบินอวกาศในการมองเห็น”
งานนิทรรศการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ยังมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมหลายคนได้แก่ ออลีวี เย ดาแก ทายาทรุ่นเหลนของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง“เจ้าชายน้อย” ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการมูลนิธิอ็องตวน เดอแซ็งแตกซูว์เปรีเพื่อเยาวชน, ปิแอร์ อองเดรย์ ประธานกรรมการแอร์บัสประจำประเทศไทย และมารี เออเจนี เลอเรย์ หรือส้ม มารี นักร้องลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส
นิทรรศการนี้สร้างความน่าประทับใจแรกเริ่ม คือ นอกจากสถานทูตฝรั่งเศสเชิญแขกคนสำคัญ สถานที่ที่เลือกจัดงานยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มาเดินเล่นในสวน ได้เข้าชมนิทรรศการและรู้จักนวัตกรรมของฝรั่งเศสมากขึ้น
ส่วนความน่าประทับใจที่สอง คือภายในงานมีบูธจัดแสดงนวัตกรมและกิจกรรม จากทั้งองค์กรไทยและฝรั่งเศสมากมาย อาทิ “แอร์บัส กรุ๊ป”ธุรกิจโรงงานผลิตและประกอบเครื่องบินของฝรั่งเศส ร่วมเปิดบูธจัดแสดงเครื่องฝึกบินจำลอง ด้วยแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์จำลองห้องนักบินแบบสามมิติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสัมผัสประสบการณ์นักบินเสมือนจริง
ส่วนบูธจัดแสดงกล้องโทรทัศน์และกิจกรรมดูดาวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) ก็มีกระแสตอบรับดี ผู้ร่วมงานหลายคนต่อแถวยาวไม่แพ้บูธจำลองการบิน ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ต่างตื่นเต้นกับกล้องดูดาวกลางสวนสาธารณะ เช่น กล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้วและกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และ 5 นิ้ว
ปิดท้ายด้วยความประทับใจที่สาม “การแสดงโดรน” สุดอลังการ บริเวณทางเดินลอยฟ้ากลางสวนเบญจกิติในยามค่ำคืน ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของงานที่ทุกคนตั้งตารอชมมาตลอดหลายชั่วโมง โดรนนับร้อยตัวเคลื่อนที่บนท้องฟ้า วาดลวดลาย พร้อมแสงไฟกระพริบจากโดรน สร้างสีสันสื่อความหมายของโครงการ "ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” ได้อย่างสมบูรณ์