'เปิดสารพัดเทคนิค'จีนล้วงข้อมูลสหรัฐ

'เปิดสารพัดเทคนิค'จีนล้วงข้อมูลสหรัฐ

บอลลูนจีนต้องสงสัยสอดแนมเหนือน่านฟ้าสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน ก่อให้เกิดความไม่พอใจทางการทูตและความหวาดวิตกรอบใหม่ถึงวิธีการสืบราชการลับที่รัฐบาลปักกิ่งทำกับคู่แข่งทางยุทธศาสตร์รายใหญ่สุด

คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) เคยกล่าวในปี 2563 ว่า การสอดแนมของจีน “สร้างภัยคุกคามระยะยาวใหญ่สุดต่อข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาและการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจของประเทศเรา”

ในถ้อยแถลงที่มีต่อสำนักข่าวเอเอฟพี กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า “จีนไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด” กับปฏิบัติการสอดแนม ข้อกล่าวหาของสหรัฐเกิดจากข้อมูลเท็จ หวังผลทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐเองก็มีวิธีการล้วงข้อมูลจีนเหมือนกัน ใช้ทั้งเทคนิคสอดแนม สกัดกั้น และสร้างเครือข่ายผู้ให้ข้อมูล อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยกล่าวในปี 2558 ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้คำมั่นไม่สอดแนมทางไซเบอร์ในเชิงพาณิชย์ แต่ถ้อยแถลงต่อๆ มาของวอชิงตันชี้ว่า จีนยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมวิธีการบางอย่างที่จีนใช้ล้วงข้อมูลในสหรัฐช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สงครามไซเบอร์

สหรัฐเตือนในการประเมินข่าวกรองประจำปี 2565 ว่ายักษ์ใหญ่แห่งเอเชียรายนี้เป็นตัวแทนของ “ภัยคุกคามการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ที่กว้างขวาง แข็งขันและต่อเนื่องที่สุด” ต่อรัฐบาลและภาคเอกชนสหรัฐ 

นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองตะวันตกเผยว่า จีนเชี่ยวชาญในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของชาติคู่แข่งเพื่อล้วงความลับทางการค้าและอุตสาหกรรม

ปี 2564 สหรัฐ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และพันธมิตรอื่นๆ กล่าวว่า จีนส่ง “แฮกเกอร์ผู้ได้รับการว่าจ้าง” ไปแสวงหาประโยชน์จากการเจาระบบอีเมลของไมโครซอฟท์ ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐเข้าถึงอีเมล ข้อมูลบริษัท และข้อมูลอ่อนไหวอื่นๆ

สายลับไซเบอร์ชาวจีนยังแฮกกระทรวงพลังงาน บริษัทสาธารณูปโภค บริษัทโทรคมนาคม และมหาวิทยาลัยในสหรัฐด้วย

หวาดกลัวเทคโนโลยีจีน

ความหวาดกลัวภัยคุกคามจากปักกิ่งแผ่ไปถึงภาคเทคโนโลยี ด้วยเกรงว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐอาจถูกมอบหมายให้แบ่งปันข่าวกรองกับรัฐบาลจีน

ปี 2562 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐตั้งข้อหายักษ์ใหญ่เทคโนโลยี “หัวเว่ย” สมคบคิดขโมยความลับทางการค้าของสหรัฐ หลบเลี่ยงการคว่ำบาตรอิหร่าน และความผิดอื่นๆ

รัฐบาลวอชิงตันห้ามหัวเว่ยจัดหาระบบให้หน่วยงานราชการสหรัฐ ไม่สนับสนุนอย่างมากให้ภาคเอกชนใช้อุปกรณ์ของบริษัทนี้ ด้วยเกรงว่าอาจถูกล้วงข้อมูลได้ ด้านหัวเว่ยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ความกังวลแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับติ๊กต็อก แอพยอดนิยมพัฒนาโดยบริษัทไบต์แดนซ์ของจีน นักการเมืองตะวันตกบางคนเรียกร้องห้ามใช้โดยเด็ดขาดหวั่นข้อมูลไม่ปลอดภัย

จารกรรมข้อมูลอุตสาหกรรมและกองทัพ

เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ส.ส.สหรัฐ และรายงานจากสื่อระบุ ปักกิ่งอาศัยพลเมืองจีนในต่างแดนช่วยรวบรวมข่าวกรองและขโมยเทคโนโลยีอ่อนไหว เคสหนึ่งที่โด่งดังที่สุดคือ จี เชาฉวิน ผู้เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกในสหรัฐ 8 ปี เมื่อเดือน ม.ค. โทษฐานรวบรวมข้อมูลชีวประวัติของบรรดาวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ที่อาจจะโน้มน้าวให้มาร่วมทำงานเป็นสายลับให้กับจีน รวมถึงชาวจีนที่ทำงานเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์อยู่ในสหรัฐ ซึ่งบางคนทำงานเป็นผู้รับเหมาในกิจการด้านกลาโหมของสหรัฐ  พร้อมส่งมอบข้อมูลต่างๆเหล่านั้นให้กับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของจีน

ปีก่อนศาลสหรัฐพิพากษาจำคุก ซู หยานจุน เจ้าหน้าที่ข่าวกรองจีนเป็นเวลา 20 ปี ฐานขโมยเทคโนโลยีจากบริษัทอากาศยานสหรัฐและฝรั่งเศส 

 ซูมีบทบาทนำในโครงการห้าปีที่รัฐบาลจีนสนับสนุน เพื่อขโมยความลับทางการค้าจากจีอี เอวิเอชัน ผู้นำด้านการผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินรายหนึ่งของโลก และซาฟรานกรุ๊ปของฝรั่งเศส

ปี 2563 ศาลสหรัฐพิพากษาจำคุก เว่ย ซุน วิศวกรชาวอเมริกัน เชื้อชาติจีนจากบริษัทเรย์ธีออน ฐานส่งข้อมูลอ่อนไหวเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธสหรัฐให้กับจีน

สอดแนมนักการเมือง

ด้วยเป้าหมายรุกคืบผลประโยชน์แห่งชาติ ปฏิบัติการของจีนจึงรวมถึงการเข้าหานักการเมือง คนดังในวงสังคมและภาคธุรกิจสหรัฐด้วย

เว็บไซต์ข่าว Axios ของสหรัฐทำข่าวสืบสวนสอบสวนในปี 2563 อ้างว่า นักศึกษาจีนนามฟาง ฟางลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยในแคลิฟอร์เนีย แล้วพัฒนาความสัมพันธ์กับนักการเมืองสหรัฐหลายคน ภายใต้การดูแลของหน่วยสายลับพลเรือนจีนระหว่างปี 2554-2558 เธอระดมใช้ทั้งเงิน สร้างมิตรภาพ หรือแม้กระทั่งริเริ่มมีเพศสัมพันธ์กับนักการเมืองดาวรุ่งผู้ตกเป็นเป้าหมาย

สถานีตำรวจต่างแดน

อีกหนึ่งเทคนิคที่หน่วยปฏิบัติการจีนใช้คือ อวดว่ารู้ข้อมูลวงในเกี่ยวกับการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเข้าถึงผู้นำระดับสูงของพรรคเพื่อล่อเป้าหมายคนดังชาติตะวันตก

อเล็กซ์ โจสเก นักเขียนชาวออสเตรเลีย-จีน เจ้าของผลงาน“Spies and Lies: How China's Greatest Covert Operations Fooled the World” กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ทำให้ผู้นำโลกเข้าใจความทะเยอทะยานของปักกิ่งผิดไป และทำให้พวกเขาเชื่อว่า จีนจะผงาดขึ้นอย่างสันติ และอาจเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป”

นอกจากนี้ปักกิ่งยังเพิ่มแรงกดดันต่อชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลและองค์กรสื่อให้สนับสนุนนโยบายต่อไต้หวัน และเพื่อปิดปากไม่ให้วิจารณ์การปราบปรามในฮ่องกงและซินเจียง

เดือน ก.ย.2565 องค์กรพัฒนาเอกชนในสเปนนาม “เซฟการ์ดดีเฟนเดอร์” กล่าวว่า จีนตั้งสถานีตำรวจ 54 แห่งทั่วโลก  พุ่งเป้าคนวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหา

เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์สั่งจีนปิดสถานีตำรวจสองแห่ง หนึ่งเดือนต่อมาสาธารณรัฐเช็กกล่าวว่า จีนปิดศูนย์ดังกล่าวสองแห่งในกรุงปราก

ท่าทีประธานาธิบดีไบเดน

ในการแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น 

ผู้นำสหรัฐที่ถูกแรงกดดันให้เล่นบทโหดกับจีน ระบุ "ผมมุ่งมั่นทำงานกับจีนในด้านที่เพิ่มผลประโยชน์ของชาวอเมริกันและเป็นประโยชน์กับโลก แต่กรุณาอย่าเข้าใจผิด เราสร้างความชัดเจนในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้าจีนคุกคามอธิปไตยของเรา เราจะปกป้องประเทศเรา และเราทำแล้ว ผมไม่เสียใจเลยที่เรากำลังลงทุนเพื่อทำให้อเมริกาแข็งแกร่งขึ้น ลงทุนในนวัตกรรมอเมริกัน ในอุตสาหกรรมกำหนดอนาคตที่จีนมุ่งหมายเข้าครอบงำ" 

แต่เมื่อพูดถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เขาเคยพบในอินโดนีเซียเมื่อเดือน พ.ย. ไบเดนกล่าว เขาเคยบอกกับสีว่า “เราแสวงหาการแข่งขันไม่ใช่ความขัดแย้ง”