ส่องเทรนด์งานดีไซน์ ‘ไต้หวัน’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลดโลกร้อน
‘ไต้หวัน’ ต้นแบบดีไซน์สินค้า ตอบโจทย์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดยไต้หวันมองไปไกลเกินกว่าคำว่าต้นทุน เมื่อเทียบกับการยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้นอีกนิด แต่แลกกับสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตความเป็นที่ดีขึ้นของทุกคน
ไต้หวันกำลังก้าวสู่ความเป็นสังคมสีเขียวและใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปพร้อมๆกับการเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆได้แข่งขันกันออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไต้หวันรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการลดโลกร้อน
"ชือ อี-ฉาง" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านการออกแบบแห่งไต้หวัน (Taiwan Design Research Institute : TDRI) เล่าว่าไต้หวันเป็นเกาะเล็กๆ มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ และเริ่มหันมาใช้ถุงผ้าและคัดแยกประเภทขยะมาตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นการใส่ความคิดและให้ความรู้ประชาชนไต้หวันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสร้างวงจรการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Cycle)
‘กรีนไซเคิล’ ไลฟ์สไตล์เพื่อความยั่งยืน
แนวคิดดังกล่าวจุดประกายงานดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์สังคมและไลฟ์สไตล์คนไต้หวันรุ่นใหม่ ที่มุ่งลดโลกร้อน เดิมไต้หวันมีจุดแข็งอยู่ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า OEM ให้กับแบรนด์ต่างประเทศ มาจนถึงปัจจุบัน ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และไอทีแห่งใหญ่ในเอเชีย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไต้หวันเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะผลิตสินค้าใดๆในไต้หวันจะเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ “แนวคิดความยั่งยืน” และให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ไต้หวันอันดับ2โลกด้านรีไซเคิลแก้ว
สองทศวรรษที่ผ่านมา การจัดการขยะอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในระดับสากล ซึ่งในสังคมไต้หวันค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ฉาง เล่าว่า ไต้หวันเป็นเบอร์ 2 ของโลก รองจากสวีเดนที่เป็นอันดับหนึ่งในเรื่องการรีไซเคิลวัสดุที่เป็นเศษแก้ว ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าญี่ปุ่น เพราะไต้หวันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตหน้าจอแอลซีดี
"เมื่อมีขยะจากอุตสาหกรรมประเภทนี้ในปริมาณมาก เราจึงคิดหาวิธีนำกลับรีไซเคิลเป็นสินค้าใหม่ที่ทำจากแก้วประเภทต่างๆ เช่น แก้วน้ำเกรดพรีเมียม งานศิลปะทำขึ้นจากเศษแก้วรีไซเคิลเพื่อใช้ตกแต่งบ้าน แน่นอนว่า ไต้หวันคิดค้นวิธีการรีไซเคิลที่ใช้เทคนิคชั้นสูงและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการผลิต ที่มีความซับซ้อน แต่ได้สินค้าที่สวยงามและมีคุณภาพสูง" ฉาง กล่าว
พร้อมเสริมว่า Ai มีส่วนสำคัญ นับตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการผลิต นั่นคือการใช้เครื่องจักรอัจฉริยะมาช่วยคัดแยกประเภทแก้วที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ โดยเครื่องคัดแยกขยะสามารถเคลื่อนที่ไปในแหล่งชุมชนต่างๆและจัดการคัดแยกขยะในหน้างานได้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการขนส่ง และลดค่าจ้างคนงานได้มาก
แข่งขันดีไซน์ตอบโจทย์ลดพลาสติก
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีจุดแข็งในเรื่องนำขยะในทะเล รวมทั้งอุปกรณ์ทำประมงที่ถูกทิ้งร้าง กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง เช่น บริษัทเอเซอร์ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์สัญชาติไต้หวัน นำขยะทะเลมาผ่านกระบวนการผลิตให้ได้วัสดุใหม่จากการรีไซเคิลเพื่อนำมาประกอบเป็นสินค้าใหม่ และดีไซน์ให้ทันสมัยกว่าเดิม
"สมัยก่อน ไต้หวันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก แต่สมัยนี้ เราใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมคัดแยกประเภทพลาสติก รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็มีนโยบายยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก ทำให้เกิดการแข่งขันการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการดีไซน์ฝาแก้วพร้อมดื่มที่ใช้แทนหลอด" ฉาง กล่าว
ผอ.สถาบันวิจัยด้านการออกแบบแห่งไต้หวัน ยังแชร์ประสบการณ์การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “ซีโร่แพ็คเกจ” ที่ปลุกกระแสความนิยมในไต้หวันอย่างมาก เมื่อห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูของฝรั่งเศสได้จัดแคมเปญรักษ์โลกร่วมกับ TDRI ในการออกแบบและพัฒนาแชมพูที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยได้คัดเลือก"ไถเหยียน"เป็นสมาคมจำหน่ายเกลือแห่งไต้หวัน ให้คิดค้นสูตรแชมพูสารสกัดจากธรรมชาติ และ"หย่งยู้" บริษัทผลิตพลาสติกเจ้าใหญ่ในไต้หวัน ให้ผลิตขวดบรรจุที่ย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ
โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ใช้เวลาพัฒนานาน 3 ปี ก่อนนำไปวางตามชั้นจำหน่ายที่ห้างคาร์ฟู ซึ่งพบว่าได้เสียงตอบรับที่ดีจากวัยรุ่นไต้หวันที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน และผลิตภัณฑ์นี้ยังได้รางวัล "Golden Pin Design Award" เป็นรางวัลระดับชาติ สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนทั่วไปหันมาสนใจและนิยมใช้สินค้าที่มีรางวัลการันตี
ผอ.สถาบันวิจัยด้านการออกแบบแห่งไต้หวันให้ข้อคิดว่า สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตและออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมมีต้นทุนที่สูง แต่คนไต้หวันมองไกลเกินกว่าคำว่าต้นทุน เมื่อเทียบกับการยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้นอีกนิด แต่แลกกับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตความเป็นที่ดีขึ้นของทุกคน