ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

ล่าสุดมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเสนอชื่อ ดร.คาซูโอ ยูดะ (Kazuo Ueda) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนต่อไป

หลังจาก นายคูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบันหมดวาระในเดือนเมษายน เป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติแต่คราวนี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครอยากรับ 

เพราะโจทย์นโยบายเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้ายากและท้าทายมาก คือจะนําเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่ามากๆ ที่มีมานานได้อย่างไร โดยไม่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

ต้องการผู้ว่าการธนาคารกลางที่พร้อมจะทําเรื่องนี้ที่เป็นที่ยอมรับ มีภาวะผู้นำและกล้าตัดสินใจ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบปัญหาสำคัญสามเรื่อง คือ ผลิตภาพการผลิตตํ่า ประชากรสูงวัย และภาคธุรกิจขาดพลวัตไม่ลงทุน 

เป็นสามปัญหาที่เป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทําให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่ตํ่าต่อเนื่อง คือประมาณร้อยละ 1-2 

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

แม้รัฐบาลได้พยายามกระตุ้นด้วยการก่อหนี้เพื่อขยายการใช้จ่ายภาครัฐ และใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ กดอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับต่ำมากด้วยมาตรการ

เช่น อัดฉีดสภาพคล่องด้วยมาตรการคิวอี โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและตราสารหุ้น ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นในระดับติดลบ และควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

แต่มาตรการเหล่านี้ก็ไม่เป็นผล ตรงกันข้าม หนี้สาธารณะญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่ร้อยละ 262.5 ของรายได้ประชาชาติ ณ สิ้นปี 2564

ขณะที่การอัดฉีดสภาพคล่องทําใหัธนาคารกลางญี่ปุ่นถือครองมากกว่าครึ่งของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งหมด แสดงถึงขนาดของการบิดเบือนตลาดการเงินญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากบทบาทภาครัฐ

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

สถานการณ์เศรษฐกิจยิ่งลําบากขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้นและธนาคารกลางทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4 ปลายปีที่แล้วสูงสุดในรอบ 32 ปี

แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะห่วงผลที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ไตรมาสสี่ปีที่แล้ว

ห่วงผลที่จะมีต่อราคาสินทรัพย์และฐานะการคลังของรัฐบาลจากภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้น ผลคือค่าเงินเยนอ่อนมากทําให้เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัว

ล่าสุด ตลาดการเงินได้กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี

แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ตอบโต้โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อมีการเทขาย เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้เพิ่มขึ้น จนตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นนิ่ง ไม่ทำงานเพราะไม่มีใครซื้อขาย

ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังและการเงินอย่างที่เกิดขึ้น ไม่สามารถดึงให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นออกจากความอ่อนแอและกลับมาขยายตัว 

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

ตราบใดที่ปัญหาโครงสร้างทั้งสามปัญหายังไม่แก้ไข ตรงกันข้ามการพยายามเดินต่อในแนวทางเดิมจะยิ่งสร้างความบิดเบือนให้มีมากขึ้น กระทบประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรการเงิน และสร้างข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในส่วนนโยบายการเงิน ชัดเจนว่าการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ตํ่ามากๆ นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในเศรษฐกิจญี่ปุ่นและต่างประเทศที่ได้เปลี่ยนไป ทำให้นโยบายดังกล่าวจะไม่สามารถยืนระยะได้และไม่เป็นที่ยอมรับ 

สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ การวางยุทธศาสตร์ให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินออกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ อย่างในปัจจุบัน

ต้องทําอย่างฉลาด ระมัดระวังและพลาดไม่ได้ในทุกขั้นตอน เพราะผลกระทบที่จะมีมากทั้งต่อตลาดการเงินของประเทศ ต่อฐานะการคลังของประเทศ และต่อชื่อเสียงและความไว้วางใจที่ทุกฝ่ายมีต่อธนาคารกลางญี่ปุ่น

นี่คือโจทย์และภารกิจที่รออยู่สำหรับผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

ในช่วงแรกของการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามารับหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ ตัวเต็งที่ตลาดการเงินทั้งในและนอกญี่ปุ่นพูดถึง “ไม่ใช่” นายคาซูโอ ยูดะ

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

แต่เป็นชื่อรองผู้ว่าการคนปัจจุบัน อดีตรองผู้ว่าการ และอดีตผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังที่เคยนั่งเป็นกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสามคนเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับการทํานโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา 

ดังนั้น การเสนอชื่อ นายคาซูโอ ยูดะ จึงชี้ว่าฝ่ายการเมืองญี่ปุ่นคงอยากแก้ปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นในแนวทางที่เราได้พูดถึง และได้พิจารณาแล้วว่านายคาซูโอ ยูดะ มีความเหมาะสมที่จะทำให้พันธกิจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในส่วนของนโยบายการเงินประสบความสำเร็จ

1.นายคาซูโอ ยูดะ เป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในนโยบายการเงินเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที สหรัฐ 

เป็นลูกศิษย์ศาสตราจารย์ Stanley Fischer ที่เคยเป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ นายคาซูโอ ยูดะ เคยทําหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นช่วงปี 2541-2548 ทําให้เข้าใจและรู้การทํางานในธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

2.นายคาซูโม ยูดะ เป็นนักเขียนเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นรู้จักในญี่ปุ่น มีคอลัมน์ประจำและสามารถสื่อสารเรื่องเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างดี 

การแสดงความเห็นของเขาจะยืนบนพื้นฐานของวิชาการ ให้ความเห็นอย่างมีเหตุมีผล ไม่มีการเมือง เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่ตลาดการเงินญี่ปุ่นยอมรับและให้ความสำคัญ

3.นายคาซูโม ยูดะ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจปัญหาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขณะนี้เป็นอย่างดี เข้าใจพันธกิจและความท้าทายที่รออยู่ และจากที่เขาเป็นนักวิชาการ เป็นคนนอก ทําให้ไม่ผูกพันกับนโยบายหรือสิ่งที่ทํามาในอดีต สามารถมองปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างตรงไปตรงมาตามเหตุผล และจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

มีเกร็ดว่าเมื่อเขาถูกถามว่าทำไมจะรับตำแหน่งนี้เพราะความท้าทายมีมาก เขาตอบว่าถ้าได้รับความเห็นชอบเขาจะทําอย่างดีที่สุด (my sincere best) เพื่อช่วยประเทศชาติแก้ปัญหา

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ประสบความสำเร็จในงานที่ต้องทํา

ภารกิจผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]