วีซ่าทำงานญี่ปุ่น J-Skip และ J-Find | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่กำลังหางานและหวังจะได้งานทำในเมืองนอก เมื่อประเทศญี่ปุ่นประกาศปรับมาตรการในการรับแรงงานชาวต่างชาติผู้มีทักษะในช่วงกลางปีที่จะถึงนี้
ในปัจจุบันที่โลกเราแคบขึ้น ประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศประสบปัญหาเดียวกันคือภาวะการแต่งงานและการเกิดที่น้อยลง การขาดแรงงานมีฝีมือที่จะเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาปรับนโยบายการเข้าเมืองและการจ้างงานแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือเฉพาะทางที่ตลาดในประเทศนั้น ๆ ต้องการ
ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศแรกที่มีความพยายามจะลดความยุ่งยากของการจ้างแรงงานต่างชาติและเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เข้ามามีโอกาสในการทำงาน เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศในยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ หรือแม้กระทั่งนิวซีแลนด์ หรือใกล้บ้านเราหน่อยอย่างสิงคโปร์ก็มีแนวทางที่ดึงดูดแรงงานเหล่านี้มาสักพักหนึ่งแล้ว
ที่เนเธอร์แลนด์มีวีซ่าประเภท Highly Skilled Migrant (ผู้อพยพที่มีทักษะสูง) ที่อนุญาตให้ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ติดอยู่ใน 200 อันดับแรกนั้นมีสิทธิที่จะอยู่เพื่อหางานทำภายในระยะเวลาหนึ่งปี เช่นเดียวกับของอังกฤษ ที่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรสามารถอยู่หาหรือทำงานในประเทศต่อไปได้อีกถึง 2 ปี
นโยบายใหม่ในการออกวีซ่าทำงานในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ the Japan System for Special Highly Skilled Professionals (J-Skip) สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว และ the Japan System for Future Creation Individual Visa (J-Find) สำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาได้ไม่นาน
J-Skip นั้นจะเน้นอนุมัติแก่ 1 วิศวกร 2 นักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ และ 3 ผู้จัดการ โดยเงื่อนไขคือ หากเป็นวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย จะต้องจบปริญญาโทหรือมากกว่า ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 10 ปี และที่สำคัญคือจะต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านเยน หรือเฉลี่ยเป็นเงินเดือน ก็คือเดือนละ 4 แสนกว่าบาท
ขณะที่กรณีการจ้างงานแรงงานประเภทผู้จัดการนั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับวีซ่าจะต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี แต่รายได้ต่อปีจะต้องอยู่ที่ 40 ล้านเยน หรือสองเท่าของกลุ่มวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้ก็ทำขึ้นเพื่อการคัดกรองแรงงานที่มีฝีมือจริง ๆ เท่านั้น
มากไปกว่านั้น หากทำงานในวีซ่านี้เกิน 1 ปีแล้ว แรงงานมีฝีมือผู้อพยพเหล่านี้ยังมีสิทธิที่เอื้อไปถึงคู่สมรสที่จะสามารถทำงานในญี่ปุ่นได้ เช่นเดียวกับความสามารถในการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นอย่างคนญึ่ปุ่นได้อีก 2 อัตราด้วย
ส่วน J-Find จะเน้นอนุมัติแก่นักศึกษาที่จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปีจาก 100 สุดยอดมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกตามเกณฑ์ของ 3 สำนักประเมินอย่าง QS (ของฝั่งอังกฤษ), Times Higher Education (ของฝั่งอเมริกา) และ Shanghai Jiao Tong (ของฝั่งจีน) กับเงินตั้งต้นอีกน้อยนิดแค่ 200,000 เยนหรือ 52,000 บาทเท่านั้น ซึ่งวีซ่าประเภทนี้อนุญาตนักศึกษาจบใหม่สามารถอยู่หางานในญี่ปุ่นได้ถึง 2 ปี
ส่วนการประเมินว่ามหาวิทยาลัยใดติดท็อป 100 ก็ไม่เป็นประเด็นเพราะสำนักประเมินทั้ง 3 มีเกณฑ์มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของโลก ซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยใดในไทยเลยที่ติดท็อป 100 ของโลก ดังนั้นจึงหมายความว่า หากต้องการสมัครวีซ่าประเภทนี้ จำต้องไปเรียนจบจากเมืองนอกเท่านั้น
เรียกได้ว่าวีซ่าประเภทนี้นั้นไม่เอาหางกะทิ คัดเฉพาะหัวกะทิเท่านั้น