“เทคโนโลยีอุบัติใหม่”จีน ตัวแปรเพิ่มขัดแย้งเทควอร์กับสหรัฐ

“เทคโนโลยีอุบัติใหม่”จีน ตัวแปรเพิ่มขัดแย้งเทควอร์กับสหรัฐ

“เทคโนโลยีอุบัติใหม่”จีน ตัวแปรเพิ่มขัดแย้งเทควอร์กับสหรัฐ โดยชาติตะวันตกกำลังสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านผลการวิจัยและวิทยาศาสตร์

ขณะที่“ติ๊กต็อก” กำลังเป็นปมขัดแย้งที่จุดชนวนนำไปสู่การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและลามถึงรัฐสภายุโรป ที่ส่งจดหมายถึงพนักงานทุกคนเมื่อวันอังคาร ห้ามใช้หรือติดตั้งแอปพลิเคชันติ๊กต็อกบนอุปกรณ์ของพนักงานที่ใช้ทำงาน เช่น โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป โดยเริ่มให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นไป

สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์ด้านความมั่นคงก็เปิดเผยวานนี้ (2 มี.ค.) ว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technologies) ของจีนแซงหน้าสหรัฐมากถึง 37 ประเภท จากทั้งหมด 44 ประเภท เนื่องจากหลายประเทศในฝั่งตะวันตกซึ่งรวมถึงสหรัฐนั้นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระดับโลกด้านงานวิจัย

ผลการศึกษาของ ASPI ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยังพบว่า ในงานวิจัยบางประเภทนั้น สถาบันวิจัยระดับท็อปเท็นของโลกนั้นตั้งอยู่ในประเทศจีน

ASPI ระบุว่า สำหรับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ สหรัฐมักจะอยู่ในอันดับที่สองรองจากจีน แม้สหรัฐนำหน้าในงานวิจัยระดับโลกเกี่ยวกับการประมวลผลประสิทธิภาพสูง, เทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวติง, ดาวเทียมขนาดเล็ก และวัคซีนก็ตาม
 

“ประเทศตะวันตกกำลังสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านผลการวิจัยและวิทยาศาสตร์” ASPI ระบุ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลของชาติตะวันตกเพิ่มการลงทุนในด้านงานวิจัย

จีน มีความก้าวล้ำนำหน้าในงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงภายใต้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดย ASPI ระบุว่า หากประชาคมโลกได้รับรู้ถึงความสามารถด้านการวิจัยที่แข็งแกร่งของจีนก่อนหน้านี้ ก็คงจะไม่ประหลาดใจกับการคิดค้นเทคโนโลยีขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic missiles) ของจีนในปี 2564

“ย้อนเวลาไปช่วง 5 ปีที่แล้ว จีนสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีผลกระทบสูงได้ถึง 48.49% ได้แก่งานวิจัยด้านเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่ทันสมัย ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง นอกจากนี้ จีนยังเป็นฐานที่ตั้งของสถาบันวิจัยระดับท็อปเท็นของโลกถึง 7 แห่ง” ASPI ระบุ

นอกจากนี้ ASPI ยังเปิดเผยด้วยว่า ความสามารถด้านการวิจัยที่แข็งแกร่งของจีนในด้านเทคโนโลยีตรวจจับภาพ (Photonic Sensors) และการสื่อสารเชิงควอนตัม (Quantum Communication) อาจจะส่งผลให้หน่วยข่าวกรอง “Five Eyes” ของอังกฤษ สหรัฐ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

การเผยแพร่ข้อมูลของ ASPI เกี่ยวกับเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลสหรัฐ ออกกฏห้ามบริษัทผลิตชิปอเมริกันที่ได้รับเงินสนับสนุนผ่านโครงการ “CHIPS and Science Act” ขยายหรือลงทุนใหม่ในจีนเป็นเวลานาน 10 ปี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดการพึ่งพาชิปจากจีน

รัฐบาลสหรัฐ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศสนับสนุนเงินทุนจำนวน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์แก่บรรดาผู้ผลิตชิปในสหรัฐ พร้อมทั้งออกมาตรการสนับสนุนผ่านภาษีการลงทุน 25% ให้แก่ผู้ที่สร้างโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

ข้อห้ามขยายการลงทุนในจีนของรัฐบาลสหรัฐมีขึ้นหลังจากประกาศร่างกฎหมายพระราชบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ หรือ CHIPS and Science Act ที่มีการจัดสรรงบประมาณ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น

ร่างกฎหมายนี้จะช่วยลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ ดึงดูดผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น และผลักดันให้อุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าเพื่อต่อกรกับจีนในตลาดโลกได้

ภายใต้เงื่อนไขตามร่างกฏหมายฉบับนี้ บริษัทที่ต้องการรับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญคือ ห้ามมีส่วนร่วมในการวิจัยร่วมกัน หรือมีความพยายามจะออกใบอนุญาตทางเทคโนโลยีกับหน่วยงานต่างประเทศ ไม่สามารถลงทุนใหม่หรือขยายกำลังการผลิตในจีนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าเงินภาษีของผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน จะไม่ถูกนำไปใช้ในการดำเนินงานก่อสร้างในจีน

นอกจากนี้ บริษัทที่ได้รับเงินทุนโดยตรงจำนวนตั้งแต่ 150 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะต้องแบ่งปันผลกำไร หรือกระแสเงินสดที่เกินคาดการณ์จากที่ตกลงร่วมกันให้แก่รัฐบาล และห้ามผู้ผลิตซื้อหุ้นบริษัทคืนภายใน 5 ปี หลังรับเงินทุน อีกทั้งบริษัทต้องส่งเสริมการอบรมและสร้างทักษะวิศกรรมขั้นสูงให้แก่คนงานชาวอเมริกัน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลสหรัฐจะประกาศเพิ่มงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)ประมาณสิบล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี

แต่ไม่ได้มีแค่สหรัฐเท่านั้นที่มีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สหภาพยุโรป (อียู) ก็ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 48,000 ล้านดอลลาร์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคยุโรป หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนชิปในตลาดเช่นกัน รวมถึงลดการพึ่งพาชิปคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจากเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
“เทคโนโลยีอุบัติใหม่”จีน ตัวแปรเพิ่มขัดแย้งเทควอร์กับสหรัฐ