ผู้เชี่ยวชาญมองบทบาทจีน ดีล ‘อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย’ บดบังรัศมีสหรัฐ

ผู้เชี่ยวชาญมองบทบาทจีน  ดีล ‘อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย’ บดบังรัศมีสหรัฐ

การที่คู่อริในตะวันออกกลางอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์กันเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) ย่อมเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะคำประกาศนี้เกิดขึ้นหลังการหารือกันในกรุงปักกิ่ง

Key points:

  • ก่อนการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเป็นมิตรประเทศกันได้ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน
  • การพูดคุยระหว่างสองอริเกิดขึ้นสองสามปีแล้วโดยมีอิรักและโอมานเป็นคนกลางเริ่มต้นไกล่เกลี่ย ไม่ได้เริ่มต้นที่จีน
  • สูตรความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบีย “น้ำมันแลกความมั่นคง” ใช้ไม่ได้ผลในระยะหลัง ซาอุดีอาระเบียต้องสร้างพันธมิตรหลากหลาย
  • เป็นไปได้ที่ดีลอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย จะปูทางให้จีนทำหน้าที่ broker ระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษา ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถอดรหัสความสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียรวมไปถึงบทบาทของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง

“ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้เลวร้าย มาตั้งแต่หลังสงครามอิรักปี 2003 จริงๆ แล้วต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1979 หลังการปฏิวัติอิหร่าน จากปัญหาเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน” นักวิชาการจุฬาฯ เปิดฉากเล่าย้อนไปถึงก่อนการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 อิหร่านและซาอุดีอาระเบียสามารถร่วมมือเป็นมิตรประเทศกันได้ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นประเทศผลิตน้ำมันด้วยกันทั้งคู่ และมีศัตรูตัวเดียวกันคือพวกอาหรับชาตินิยมที่ต้องการโค่นระบอบราชาธิปไตย ซึ่งซาอุดีอาระเบียและอิหร่านในขณะนั้นยังปกครองในระบอบราชาธิปไตยและเป็นสองประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างเหนียวแน่น

“เมื่อผลประโยชน์ ระบอบการเมืองการปกครองคล้ายคลึงกันและยังมีศัตรูตัวเดียวกันจึงทำให้ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้อิหร่านเป็นชีอะห์ ซาอุดีอาระเบียเป็นซุนนีก็ตาม”

 

 

ปฐมบทความขัดแย้งอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย

ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปหลังการปฏิวัติอิหร่าน “เพราะซาอุดีอาระเบียมองว่า อิหร่านพยายามส่งออกการปฏิวัติอิหร่านไปสู่กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง” และอยาตอลเลาะห์โคไมนี ผู้นำอิหร่านวิจารณ์ระบบราชาธิปไตยของซาอุดีอาระเบียด้วย นำไปสู่การเผชิญหน้าหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์อย่างสงครามอิรัก อาหรับสปริง ที่สร้างบรรยากาศการเผชิญหน้าจนนำไปสู่สงครามตัวแทน

ศราวุฒิย้ำว่า การพูดคุยระหว่างสองอริเกิดขึ้นสองสามปีแล้วโดยมีอิรักและโอมานเป็นคนกลางเริ่มต้นไกล่เกลี่ย ไม่ได้เริ่มต้นที่จีน แต่ภูมิรัฐศาสตร์โลกการแข่งอำนาจระหว่างสหรัฐ จีน รัสเซียเปลี่ยนไป รวมถึงบทบาทของสหรัฐในตะวันออกกลางลดน้อยถอยลง สูตรความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาระเบีย “น้ำมันแลกความมั่นคง” ใช้ไม่ได้ผลในระยะหลัง เพราะสหรัฐยุคโอบามา ทรัมป์ ไบเดน ไม่ได้ให้การปกป้องคุ้มครองต่อความมั่นคงต่อซาอุดีอาระเบียมากเหมือนในอดีต ทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องคิดใหม่ทำไม่ สร้างพันธมิตรให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่พึ่งพาสหรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยการขยับเข้าไปใกล้ชิดรัสเซีย จีน แต่ก็ยังสัมพันธ์กับสหรัฐ

 

ผู้เชี่ยวชาญมองบทบาทจีน  ดีล ‘อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย’ บดบังรัศมีสหรัฐ

 

บทบาทจีนในตะวันออกกลาง 

จีนแผ่อิทธิพลเศรษฐกิจเข้ามานานพอสมควร เป็นประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลมากๆ ในตะวันออกกลาง จีนทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ 25 ปีของอิหร่าน ผู้นำอิหร่านไปเยือนจีนหลายครั้ง จีนไปประชุมกับซาอุดีอาระเบียและจีซีซี  (ความร่วมมืออ่าวอาหรับ) พยายามแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในตะวันออกกลาง 

“แนวทางจีนแตกต่างจากสหรัฐ สหรัฐเน้นความมั่นคง จีนเน้นเศรษฐกิจ ความร่วมมือ ค้าขาย”

 

 

ใครได้-ใครเสีย ดีล 'อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย'

ในมุมมองของนักวิชาการรายนี้ เห็นชัดว่า สหรัฐเสียประโยชน์มากที่สุดในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียวในภูมิภาคตะวันออกกลางติดต่อกันมาหลายสิบปี มีฐานทัพในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และพื้นที่นี้ถือเป็นฐานที่มั่นของสหรัฐ แต่เมื่อจีนเป็นคนกลางสานความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ซึ่งเป็นปัญหาสาหัสมากในตะวันออกกลาง จึงเห็นบทบาทจีนที่สูงเด่นมากยิ่งขึ้น บดบังรัศมีของสหรัฐในภูมิภาคนี้ชัดเจน

“คนที่เสียประโยชน์จึงเป็นสหรัฐ คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือจีน ประสบความสำเร็จทางการทูต ตอกย้ำอิทธิพลของจีนในตะวันออกลาง”

 

แน่นอนว่า อิหร่านก็ได้ประโยชน์จากดีลนี้เช่นกัน เพราะถูกโดดเดี่ยวจากสหรัฐมายาวนาน การที่อิหร่านได้รับการยอมรับจากซาอุดีอาระเบียเท่ากับว่านโยบายโดดเดี่ยวอิหร่านของสหรัฐ ไม่ประสบความสำเร็จ และอิหร่านสามารถฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตนเองในกลุ่มเพื่อนบ้านนำไปสู่ความร่วมมือ 

"อิหร่านเป็นลูกค้าสำคัญที่ส่งคนไปทำฮัจญ์มากที่สุด นักธุรกิจอิหร่านไปทำงานในซาอุดีอาระเบียมากมาย ติดต่อกันมายาวนาน แต่เพิ่งเกิดปัญหาช่วงหลัง โดยเฉพาะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เมื่อซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตผู้นำศาสนาสายชีอะห์คนสำคัญ ทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจลุกฮือประท้วงจนนำไปสู่การโจมตีสถานทูตซาอุดีอาระเบียในเตหะราน ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน" 

วันนี้เมื่อทั้งสองฝ่ายฟื้นความสัมพันธ์ ทำให้ภาพลักษณ์อิหร่านดีขึ้นว่า อิหร่านร่วมมือกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างซาอุดีอาระเบียได้ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก็พยายามสะท้อนเชิงสัญลักษณ์ให้สหรัฐได้เห็นว่า ตนมีทางเลือกมากขึ้น

 

บทบาทจีน “ตบหน้า” สหรัฐ

พื้นที่นี้คือเขตอิทธิพลสหรัฐ ที่ผ่านมา สหรัฐมีนโยบายสร้างพันธมิตรกับซาอุดีอาระเบียเพื่อต่อต้านอิหร่าน ทำให้ซาอุดีอาระเบียใช้นโยบายแข็งกร้าวมากกับอิหร่าน สกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้ขยายอิทธิพลออกมาได้เลย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง

“สำหรับสหรัฐ อิหร่านคือประเทศหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้ และเป็นศัตรูกับอิสราเอลด้วย เพราะฉะนั้นนโยบายสหรัฐที่ผ่านมาคือกำจัดอิทธิพลของอิหร่านด้วยการสนับสนุนซาอุดีอาระเบีย” 

แต่บทบาทจีนไม่ได้เป็นแบบนั้น จีนเข้ามาแบบสร้างปรากฏการณ์ใหม่ แสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ เอาสองประเทศที่ขัดแย้งกันมานานมาเจรจาแล้วตกลงรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันได้ “เห็นชัดเจนว่าคนที่เสียหน้าคือสหรัฐอเมริกา” 

 

ผู้เชี่ยวชาญมองบทบาทจีน  ดีล ‘อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย’ บดบังรัศมีสหรัฐ

 

ปูทางสู่การเป็น broker ดีล ‘รัสเซีย-ยูเครน’

ประเด็นนี้ศราวุฒิมองว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจว่า สงครามยูเครนเป็นการเผชิญหน้ากันทางอ้อม ระหว่างสหรัฐ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รัสเซีย แต่มาใช้สนามยูเครน 

เมื่อมหาอำนาจตะวันตกยังคงสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนอย่างเต็มที่ รัสเซียก็ตัดสินใจมาทำสงครามกับยูเครน โดยไม่มีนโยบายลดลาวาศอกต่อการคืบคลานเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก กลายเป็นความขัดแย้งใหญ่มาก ที่ไม่ใช่การเจรจาสองฝ่ายแล้วจะจบ แต่ต้องดีลกันหลายฝ่าย 

"สงครามยูเครนเป็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจโลก เมื่อใดก็ตามที่มหาอำนาจนั่งคุยกันได้ สงครามในยูเครนก็อาจตกลงได้" 

 

วันนี้บทบาทของจีนเด่นชัดมากขึ้น และมีสัญญาณจากผู้นำยูเครน ขอร้องให้จีนแสดงบทบาทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และจีนเองแสดงสัญลักษณ์เชิงบวกตอบรับ ซึ่งรัสเซียกับจีนก็มีความร่วมมือกันระดับหนึ่ง แม้ไม่แนบแน่นมากแต่ก็หัวอกเดียวกันในการถูกกดดันจากสหรัฐ 

จุดแข็งของจีนที่จะแสดงบทบาทดังกล่าวคือ

1. จีนเป็นมหาอำนาจที่ขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐ 

2. จีนใกล้ชิดกับรัสเซีย คนไกล่เกลี่ยไม่สามารถเป็นสหรัฐหรือตะวันตกได้เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง แต่จีนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่เผชิญหน้ากับตะวันตกตรงๆ แม้จีนมีปัญหากับสหรัฐในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ แต่ก็ร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจและการค้า 

“คุณลักษณะของจีน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโดยตรง จึงทำให้รัสเซียและยูเครนสบายใจที่จะเลือกใช้จีน” ศราวุฒิ สรุป