ตบหน้าสหรัฐ? จีนตัวกลางเจรจา ‘ซาอุฯ-อิหร่าน’ ดีกันได้

ตบหน้าสหรัฐ? จีนตัวกลางเจรจา ‘ซาอุฯ-อิหร่าน’ ดีกันได้

อิหร่านและซาอุดีอาระเบียช็อกโลก ประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นสิ่งที่รัฐบาลวอชิงตันต้องให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทจีนในการเจรจาสันติภาพในภูมิภาคที่สหรัฐเคยมีอิทธิพลมานาน

Key points:

  • อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย ประกาศรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) ระหว่างหารือลับในกรุงปักกิ่ง 
  • เจฟฟรีย์ เฟลต์แมน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐและสหประชาชาติ นักวิจัยจากสถาบันบรุกกิงส์ กล่าวว่า บทบาทของจีนยังเป็นส่วนสำคัญที่สุดในข้อตกลงนี้
  • เนย์สัน ราฟาตี นักวิเคราะห์อาวุโสว่าด้วยอิหร่าน จากอินเตอร์เนชันแนลไครสิสกรุ๊ป มองว่า สหรัฐและตะวันตกกดดันหนัก อิหร่านต้องหันไปพึ่งจีน 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อิหร่านและซาอุดีอาระเบียประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) สี่วันหลังจากคู่อริแห่งตะวันออกกลางมาเจรจากันอย่างไม่เปิดเผยที่กรุงปักกิ่ง จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวเผยในวันเดียวกันว่า แม้วอชิงตันไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ซาอุฯ ได้แจ้งแก่ทางการสหรัฐแล้วเรื่องการเจรจากับอิหร่าน

ช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังร้าวฉานหนักในหลายเรื่อง ตั้งแต่การค้าไปจนถึงการสอดแนม สองมหาอำนาจกำลังแข่งกันสร้างอิทธิพลในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ดูเหมือนเคอร์บีไม่ได้ให้ความสำคัญกับจีนมากนักในพัฒนาการครั้งนี้ ระบุ ทำเนียบขาวเชื่อว่า จริงๆ แล้วเป็นเพราะแรงกดดันจากภายในและภายนอก รวมถึงการป้องปรามอย่างมีประสิทธิภาพของซาอุฯ ต่อการโจมตีจากอิหร่านหรือตัวแทนมากกว่าที่ทำให้รัฐบาลเตหะรานต้องมาเจรจา

 

 

แต่เจฟฟรีย์ เฟลต์แมน อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐและสหประชาชาติ นักวิจัยจากสถาบันบรุกกิงส์ กล่าวว่า บทบาทของจีนยังเป็นส่วนสำคัญที่สุดในข้อตกลงนี้

“นี่ตีความได้ เผลอๆ อาจจะถูกต้องด้วยว่า เป็นการตบหน้ารัฐบาลไบเดน และเป็นหลักฐานว่าจีนคือมหาอำนาจที่กำลังผงาด”

 

เจรจานิวเคลียร์

ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่อิหร่านเร่งโครงการนิวเคลียร์ สองปีหลังจากสหรัฐพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงปี 2558 ที่ตั้งใจหยุดยั้งการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ของเตหะราน รวมถึงการที่อิหร่านปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาสหรัฐได้คว่ำบาตรเตหะรานด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

ไบรอัน คาทูลิส จากสถาบันตะวันออกกลาง กล่าวว่า สำหรับสหรัฐและอิสราเอล ข้อตกลงนี้ เปิด “หนทางใหม่ที่เป็นไปได้” ในการรื้อฟื้นการเจรจาประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านที่ชะงักไป กับหุ้นส่วนที่มีศักยภาพในริยาด

“ซาอุดีอาระเบียกังวลอย่างมากเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ถ้าจะให้การเปิดสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียครั้งนี้มีความหมายและสร้างผลกระทบจะต้องแก้ความกังวลเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านได้ ไม่เช่นนั้นแล้วการเปิดสัมพันธ์ก็เป็นแค่เรื่องทั่วไป”

ไม่เพียงเท่านั้นข้อตกลงเมื่อวันศุกร์ยังให้ความหวังเรื่องสันติภาพในเยเมนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปี 2557 ถูกมองว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

ข้อตกลงหยุดยิงที่ยูเอ็นเป็นตัวกลางเดือนเมื่อ เม.ย.2565 ส่วนใหญ่ได้รับการปฏิบัติ แม้หมดอายุลงเมื่อเดือน ต.ค. โดยไม่มีฝ่ายใดตกลงขยายเวลาออกไป

เจอรัลด์ เฟียร์สทีน อดีตทูตสหรัฐประจำเยเมน ระบุ ริยาด “ไม่มีทางทำเรื่องนี้โดยไม่ได้อะไรกลับมา ไม่ว่าจะเป็นเยเมนหรืออื่นๆ ที่ยากกว่า"

 

 

บทบาทจีนเพิ่มขึ้นทุกขณะ

สำหรับบทบาทจีนที่เป็นตัวกลางเจรจา แดเนียล รัสเซล นักการทูตเบอร์หนึ่งสหรัฐดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา มองว่า “อาจมีความหมายอย่างมาก” สำหรับวอชิงตัน ไม่ใช่เรื่องปกติที่จีนจะทำตัวช่วยเป็นตัวกลางทำข้อตกลงทางการทูตในข้อพิพาทที่จีนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

 

ตบหน้าสหรัฐ? จีนตัวกลางเจรจา ‘ซาอุฯ-อิหร่าน’ ดีกันได้

“คำถามคือนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ อาจจะเป็นการตั้งต้นให้จีนไกล่เกลี่ยรัสเซียกับยูเครน ตอนที่จีนไปเยือนมอสโกได้หรือไม่?” รัสเซลตั้งข้อสังเกต

 

ด้านเนย์สัน ราฟาตี นักวิเคราะห์อาวุโสว่าด้วยอิหร่าน จากอินเตอร์เนชันแนลไครสิสกรุ๊ป มองว่า ในส่วนของอิหร่านไม่ชัดเจนว่าผลที่ได้จะดีต่อสหรัฐ

“จุดอ่อนคือในเวลาที่วอชิงตันและพันธมิตรตะวันตกกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ เตหะรานย่อมเชื่อว่าสามารถทะลายความโดดเดี่ยวได้ และเนื่องจากบทบาทของจีนมีอำนาจมาดูแล” ราฟาตีระบุ

ความเกี่ยวข้องของจีนทำให้วอชิงตันสงสัยถึงเหตุจูงใจ ไมเคิล แมคคอล ส.ส.พรรครีพับลิกัน ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการที่จีนวาดภาพตัวเองเป็น ตัวกลางสร้างสันติภาพ ว่า “จีนไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่รับผิดชอบ ไว้ใจไม่ได้ให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่ยุติธรรมหรือเป็นกลาง”

ด้านเคอร์บีเสริมว่า สหรัฐกำลังจับตาพฤติกรรมปักกิ่งในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ อย่างใกล้ชิด

“สำหรับอิทธิพลของจีนที่โน่นหรือในแอฟริกา หรือละตินอเมริกา เราไม่ได้เหมือนคนตาบอด เราจับตาดูจีนมาตลอดเมื่อพวกเขาพยายามเพิ่มอิทธิพลและบทบาททั่วโลกด้วยผลประโยชน์เห็นแก่ตัวของพวกเขาเอง”

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของจอน อัลเทอร์แมน จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ความเกี่ยวข้องของปักกิ่งช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงอำนาจและอิทธิพลจีนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะว่า มีส่วนต่อเรื่องเล่าที่ว่า บทบาทที่สหรัฐมีต่อโลกกำลังลดลง

“นัยกลายๆ ของสารที่จีนกำลังส่งคือ ขณะที่สหรัฐเป็นมหาอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าในอ่าวเปอร์เซีย จีนคือมหาอำนาจและกำลังใช้การทูตมากขึ้น”