จีนจะเป็นอย่างไร เมื่อ‘สี จิ้นผิง’ แหกขนบ นั่งประธานาธิบดีสมัย 3
สี จิ้นผิง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 กลายเป็นผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของประเทศในหลายชั่วอายุคน
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) แต่งตั้งสี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 หลังจากครองตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้บัญชาการกองทัพต่ออีกห้าปี เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสองตำแหน่งนี้สำคัญมากกว่าในการเมืองจีน
การรับตำแหน่งอีกหนึ่งวาระทำให้ สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดียาวนานที่สุดของจีน และจะปกครองไปจนถึงวัย 70 ถ้าไม่มีคนขึ้นมาท้าทาย
เอเดรียน ไจส์ นักเขียนร่วมหนังสือชื่อ “สี จิ้นผิง: ชายทรงอำนาจที่สุดในโลก” (Xi Jinping: The Most Powerful Man in the World) เผยกับเอเอฟพี เขาไม่คิดว่าสี จะต้องการความมั่งคั่งส่วนตัว แม้สื่อต่างชาติแฉว่า ครอบครัวของสีร่ำรวยมหาศาล
“นั่นไม่ใช่ความสนใจของเขา เขาคิดแต่เรื่องจีน อยากเห็นจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่สุดในโลก” ไจส์กล่าว
แหกขนบผู้นำ
หลายสิบปีมาแล้วที่จีนมีบาดแผลกับการปกครองแบบเผด็จการบูชาตัวบุคคลโดยเหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งประเทศ จึงละทิ้งการปกครองโดยคนๆ เดียวหันมาใช้ฉันทามติเป็นหลักมากขึ้น แม้ยังเป็นระบอบเผด็จการ
โมเดลนี้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ส่วนใหญ่เป็นบทบาททางพิธีการ ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทาคนก่อนหน้าลงจากอำนาจเมื่ออยู่ในตำแหน่งครบ 10 ปี แต่สีแหกขนบดังกล่าว ยกเลิกการกำหนดวาระเมื่อปี 2561 เปิดทางให้เกิดลัทธิบูชาตัวบุคคลเพื่อเสริมสร้างอำนาจทุกด้านของตน แต่การเริ่มต้นวาระสามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของสี เกิดขึ้นในช่วงที่จีนเผชิญแรงต้านหลายอย่าง ตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ไปจนถึงอัตราการเกิดลดลง
ความสัมพันธ์กับสหรัฐก็ตกต่ำสุดในรอบหลายสิบปี สองมหาอำนาจขัดแย้งกันในทุกเรื่องตั้งแต่สิทธิมนุษยชนไปจนถึงการค้าและเทคโนโลยี
“เราจะเห็นจีนรุกมากขึ้นในเวทีโลก ยืนยันเรื่องเล่าของตนต้องเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันจีนจะโฟกัสกับในประเทศ พึ่งพาประเทศอื่นน้อยลง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลางการปกครอง แทนที่จะเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การกลับสู่ยุคเหมาอิสต์ แต่คนที่เป็นเหมาอิสต์จะสะดวกใจ ซึ่งไม่ใช่ทิศทางที่ดีต่อส่วนที่เหลือของโลก” สตีฟ ชาง ผู้อำนวยการสถาบันจีน วิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา กล่าวกับเอเอฟพี
สิ่งที่สี จิ้นผิงต้องเจอ ในห้าปีข้างหน้า
เศรษฐกิจชะลอตัว
เศรษฐกิจจีนชะลอตัวน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ในวาระห้าปี แต่การตัดสินใจดึงคนสนิทมานั่งเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคก่อให้เกิดความกังวลว่า สีให้ความสำคัญกับอุดมคติมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ปี 2565 เศรษฐกิจแดนมังกรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกขยายตัวแค่ 3% พลาดเป้าโตราว 5.5% ไปมาก เมื่อต้องเผชิญกับการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดและวิกฤติอสังหาฯ ระอุ
ปี 2566 ปักกิ่งกำหนดเป้าการเติบโตไว้ที่ราว 5% ต่ำสุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี ถ้าดูจากคนที่สีเลือกมาทำงานใหญ่ในรัฐบาลชี้ให้เห็นว่า ยุคของนักปฏิรูปหัวเสรีเป็นผู้นำพาประเทศถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
การส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักและปราบปรามบิ๊กเทคชี้ว่า จีนจะใช้แนวทางเศรษฐกิจนำโดยรัฐพร้อมกับให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยการบริโภคมากขึ้น ที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจวงจรคู่”
ส่วนเสียงเรียกร้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้วย “ความมั่งคั่งร่วม” เงียบไปช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาหลังทำให้นักลงทุนเจ็บตัว
ส่วนการที่สหรัฐยืนยันรักษา “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ต่อไป เมื่อทั้งสองกำลังห้ำหั่นกันเพื่อเป็นเจ้าเทคโนโลยี รัฐบาลปักกิ่งอาจพบว่าตนเจอแรงกดดันระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศซบเซา
ความตึงเครียดกับสหรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันเสื่อมถอยต่อเนื่องช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการค้า สิทธิมนุษยชน และต้นกำเนิดโควิด-19
เดือนก่อนแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยกเลิกแผนเยือนจีนวินาทีสุดท้าย หลังสหรัฐยิงบอลลูนจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเข้ามาสอดแนมเหนือดินแดนสหรัฐ ซึ่งปักกิ่งปฏิเสธเสียงแข็ง
นับจากนั้นนักการทูตจีนระดมวิจารณ์สหรัฐ สัปดาห์นี้รัฐมนตรีต่างประเทศฉิน กัง เตือน “ให้ระวังความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับผลร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น” หากวอชิงตันไม่เปลี่ยนแนวทาง
สีเองสัปดาห์นี้ก็แซะวอชิงตันตรงๆ อย่างที่ไม่ค่อยทำบ่อยนัก กล่าวหา “ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐ” พยายามขัดขวางการเติบโตของจีน ทำทุกอย่างเพื่อสกัดกั้น ล้อมกรอบ และกดจีน สร้างความท้าทายรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อการพัฒนาประเทศจีน
ภัยคุกคามไต้หวัน
หลังจากทวีความตึงเครียดกับไต้หวัน สีผู้ไม่สะทกสะท้านอาจตัดสินเวลาที่เหมาะสมในการยึดไต้หวัน เติมเต็มความหวังยาวนานของปักกิ่ง หลังจากจีนกร้าวกับไต้หวันมากขึ้นช่วงไม่กี่ปีหลัง การมาเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อปีก่อน สร้างความเดือดดาลชนิดที่ปักกิ่งต้องซ้อมรบครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปีรอบเกาะไต้หวัน
ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์บรรจุการคัดค้านไม่ให้ไต้หวันประกาศเอกราชไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อรุกรานไต้หวันย่อมทำลายซัพพลายเชนโลก เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เกือบทุกชนิด ทั้งยังสร้างความเดือดดาลให้กับโลกตะวันตกที่จะทำให้จีนโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น เท่ากับว่าปักกิ่งกับวอชิงตันใกล้เผชิญหน้าทางทหารเข้าไปทุกที ปิดฉากเสรีภาพที่หาได้ยากของไต้หวัน
เมื่อวันอาทิตย์ (5 มี.ค.) จีนประกาศจะเพิ่มงบประมาณทหารเร็วสุดเป็นเวลาสี่ปี นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งเตือนถึง “ภัยคุกคามหยุดไม่อยู่” จากต่างประเทศ
ดรูว์ ทอมป์สัน นักวิจัยรับเชิญวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า การเพิ่มงบฯ กลาโหมต่อเนื่องทุกปีทำให้คำอ้างของปักกิ่งที่ว่า การปรับกองทัพให้ทันสมัยไม่ได้เป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้าน “ฟังดูไม่จริงใจ”
การไม่เปิดกว้างของจีนกำลัง “บ่อนทำลาย” และ “เติมเชื้อให้เกิดวงจรการป้องปรามส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมที่จะกล่าวโทษคนอื่นโดยไม่ดูการกระทำอันโจ่งแจ้งและนโยบายของตนเอง”
สิทธิมนุษยชน
จีนภายใต้สีได้ขจัดภาคประชาสังคมไปเกือบหมด นักเคลื่อนไหวพากันหนีออกนอกประเทศ การต่อต้านรัฐบาลมีแต่จะถูกกำจัด
ในภูมิภาคตะวันตกไกลซินเจียง กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยว่า ชาวอุยกูร์และมุสลิมอื่นๆ กว่า 1 ล้านคน ถูกควบคุมตัว อย่างที่สหรัฐและ ส.ส.ตะวันตกบางประเทศเรียกว่า เทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สถานการณ์ไม่น่าจะดีขึ้นในห้าปีข้างหน้า เมื่อสีมีอำนาจมากขึ้นจนไม่มีใครท้าทายได้ และสีไม่ยินยอมให้กับแรงกดดันจากนานาชาติ