นักวิชาการจุฬาฯ มองต่าง ดีล ‘อิหร่าน-ซาอุฯ’ จีนแค่แก้หน้าเรื่องบอลลูน
คำประกาศกลับมาสถาปนาทางการทูตกันอีกครั้งระหว่าง อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย หลังเจรจาลับกันหลายวันในกรุงปักกิ่ง งานนี้ได้หวัง อี้ เบอร์หนึ่งด้านการต่างประเทศของจีนเป็นสักขีพยานออกสื่อ ภาพตัวแทนระดับสูงสามประเทศที่เผยแพร่ผ่านสื่อทั่วโลกมีนัยให้ต้องตีความ
ถอดรหัส 'อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย-จีน'
รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองความสัมพันธ์นี้ว่า ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีมายาวนานและมีหลายสมรภูมิมาก เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะจบได้ง่ายๆ อย่างที่เห็น
ซาอุดีอาระเบียได้พัฒนาความสัมพันธ์กับจีนเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับสหรัฐมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ (เป็นอย่างน้อย) ส่วนอิหร่านนั้นต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในสภาวะที่เผชิญกับวิกฤติความมั่นคงภายใน อีกทั้งอีกมหาอำนาจหนึ่งที่เคยพึ่งพามายาวนานอย่างรัสเซียก็ดูจะพึ่งไม่ค่อยได้แล้ว
“ดังนั้นจึงเข้าใจได้หากทั้งซาอุฯ และอิหร่านจะยอมมาเป็น photo prop เพื่อสร้างภาพนักสร้างสรรค์สันติภาพให้แก่จีน ณ เวลานี้” แต่ภาพนั้นจะมีผลลึกซึ้งจริงจังแค่ไหนก็คงต้องดูในระยะยาว
ใครได้-เสียประโยชน์มากที่สุดในดีลนี้
อันนี้ตอบยากมากเพราะเราไม่รู้ว่าจีนให้อะไรซาอุฯ กับอิหร่านเพื่อมาอยู่ในภาพนี้ จีนได้สร้างภาพความเป็นพระเอกสันติภาพอันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าจีนต้องจ่ายเป็นอะไรและเท่าไหร่ เราจึงไม่อาจรู้ได้ว่าใครได้คุ้มเสีย หรือใครถูกหลอก
บทบาทจีนถือว่า “ตบหน้า” สหรัฐหรือไม่
จีนก็ชอบมโนว่าจีนตบหน้าสหรัฐ แต่จริงๆ แล้วซาอุฯ เป็นพันธมิตรที่ตบหน้าสหรัฐมาเป็นระยะอยู่แล้ว อิหร่านก็มีบทบาทในการตบหน้าสหรัฐและโลกตะวันตกโดยรวมมายาวนานแล้ว สรุปคือ 2 ประเทศนี้ไม่ใช่พันธมิตรที่ “ง่าย” ถ้าจีนคิดว่าจะเอาอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังซบเซาอยู่นี้ ก็อาจจะคิดผิด จริงๆ จีนควรจะเรียนรู้เรื่องความเปล่าประโยชน์ของการพยายามตบหน้าสหรัฐทำนองนี้ได้แล้ว คราวที่แล้วจัดงานจับมือตาลีบันถ่ายรูปมาใหญ่โต มาถึงตอนนี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่าไม่ได้สร้างความเสียหายให้สหรัฐสักกี่มากน้อย ในขณะที่จีนยังคงต้องปวดหัวกับตาลีบันต่อไปอีกยาวไกล
ปูทางให้จีนเป็น broker ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
อันนี้ท่าจะยาก เพราะถ้าจะเลิกรบกันได้รัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครนทั้งหมดรวมทั้งไครเมียด้วย ซึ่งจะทำให้ปูตินเสียหน้ามาก นอกจากนี้นานาชาติ (รวมทั้งสหรัฐ) ยังเรียกร้องให้เอาปูตินไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามด้วย ซึ่งปูตินไม่น่าจะยอม และยูเครนและพันธมิตรของยูเครนก็ไม่น่าจะยอมรับสันติภาพภายใต้เงื่อนไขที่น้อยกว่านี้ เพราะถ้ารัสเซียได้ดินแดนใดๆ ของยูเครนไป ก็จะเป็นความชอบธรรมให้จีนบุกไต้หวันได้ ซึ่งไม่มีพันธมิตรของยูเครนชาติใดๆ ต้องการให้เกิดขึ้น
โอกาสจีนแสดงบทบาทในตะวันออกกลาง
ถ้าทำให้เกิดการหยุดยิงในเยเมนได้ก็จะนับเป็นคุณูปการ แต่สิ่งนี้น่าจะเกิดจากแรงกดดันจากภายในอิหร่านมากกว่าที่ทำให้รัฐต้องลดการสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในต่างชาติเป็นการชั่วคราว อีกนัยหนึ่งคือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่านและซาอุฯ เป็นประชาธิปไตยสันติภาพจึงจะเกิดขึ้นอย่างถาวร เท่าที่เป็นอยู่นี้ก็เกิดได้เฉพาะเวลาที่จีนมาติดสินบนเท่านั้น ที่สำคัญคือเศรษฐกิจจีน ณ ปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้จีนติดสินบนใครได้ต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นบทบาทในการสร้างสันติภาพของรัฐบาลสีจิ้นผิงก็คงจะมีธรรมชาติอันเป็นชั่วคราวเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ วาสนา ทวีตข้อความเพิ่มเติม ระบุ "นโยบายการเป็นผู้สร้างสันติภาพโลกของจีนนั้นเกิดขึ้นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากกรณีบอลลูนเท่านั้น คือพอพลาดฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอเมริกาไม่สำเร็จ ก็หักมุมมาพยายามโดดเดี่ยวให้สหรัฐเป็นศัตรูของโลกเพื่อหาพันธมิตรให้ตัวเองมากขึ้นนั่นเอง ทั้งหมดนี้ไม่มีความระยะยาวหรือยั่งยืนใดๆ"