สื่อนอกรายงานจีน‘ส่งอาวุธ-เสื้อเกราะ’ให้รัสเซีย

สื่อนอกรายงานจีน‘ส่งอาวุธ-เสื้อเกราะ’ให้รัสเซีย

เว็บไซต์วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ POLITICO ได้ข้อมูลการค้าและศุลกากร ระบุ บริษัทจีนหลายราย โดยหนึ่งรายเกี่ยวข้องกับรัฐบาลส่งปืนไรเฟิล 1,000 กระบอกและอุปกรณ์อื่นๆ ให้กับบริษัทรัสเซีย สินค้าเหล่านี้อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารได้ เช่น ชิ้นส่วนโดรนและเสื้อเกราะ

Key Points:

-ข้อมูลการค้าและศุลกากรระบุ บริษัทจีน ส่งปืนไรเฟิล 1,000 กระบอกและอุปกรณ์อื่นๆ ให้กับบริษัทรัสเซีย

-จีนกำลังจัดหาอุปกรณ์ “ที่ใช้ได้ทั้งพลเรือนและทหาร” ให้กับรัสเซียซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงาน สินค้าเหล่านี้อาจนำไปใช้ในสมรภูมิยูเครนด้วยก็ได้

-ผู้เชี่ยวชาญยอมรับยากจะติดตามว่าผู้ซื้อต้องการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนหรือทหาร

 

POLITICO อ้างข้อมูลศุลกากรจาก Import Genius รายงานว่า การขนส่งเกิดขึ้นระหว่างเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2565

เมื่อเดือน มิ.ย.2565 ไชนานอร์ธ อินดัสตรีส์กรุ๊ป คอร์ปอเรชัน รัฐวิสาหกิจอาวุธรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของจีนส่งไรเฟิลให้กับบริษัทรัสเซียชื่อ เทคคริม (Tekhkrim) ที่ทำธุรกิจกับรัฐและกองทัพรัสเซียด้วย

ทั้งนี้ ไรเฟิล CQ-A ดัดแปลงมาจาก M16 แต่ระบุว่าเป็น “ปืนไรเฟิลล่าสัตว์สำหรับพลเรือน” มีรายงานว่าตำรวจจีนที่ปฏิบัติการแบบเดียวกับทหารใช้ปืนชนิดนี้ รวมถึงกองทัพหลายประเทศตั้งแต่ฟิลิปปินส์ไปจนถึงซูดานใต้และปารากวัย

ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อปลายปี 2565 บริษัทรัสเซียหลายรายยังรับชิ้นส่วนโดรน 12 ครั้งจากบริษัทจีน และเสื้อเกราะกว่า 12 ตัน ขนส่งผ่านตุรกี

แม้ข้อมูลศุลกากรไม่ได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังขายอาวุธปริมาณมากให้กับมอสโกเพื่อช่วยทำสงครามโดยเฉพาะ แต่ข้อมูลก็เผยว่า จีนกำลังจัดหาอุปกรณ์ “ที่ใช้ได้ทั้งพลเรือนและทหาร” ให้กับรัสเซียซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงาน สินค้าเหล่านี้อาจนำไปใช้ในสมรภูมิยูเครนด้วยก็ได้

 

 

นี่จึงเป็นการยืนยันครั้งแรกว่า จีนกำลังส่งปืนไรเฟิลและเสื้อเกราะไปให้บริษัทรัสเซีย รวมถึงโดรนและชิ้นส่วนโดรน ทั้งๆ ที่อย่างน้อยหนึ่งบริษัทรับปากว่าจะหยุดทำธุรกิจในรัสเซียและยูเครน เพื่อสร้างหลักประกันว่าสินค้าของบริษัทจะไม่ไปช่วยทำสงคราม

ข้อมูลยืนยันการขนส่งอาวุธเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้นำสหรัฐและยุโรปเตือนปักกิ่งไม่ให้สนับสนุนความพยายามของรัสเซียในยูเครน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทางการชาติตะวันตกกล่าวว่า จีนกำลังพิจารณาส่งอาวุธไปให้กองทัพรัสเซีย ความเคลื่อนไหวที่อาจเปลี่ยนแปลงการสู้รบในยูเครนให้พลิกไปเข้าทางรัสเซีย ทางการตะวันตกยังกังวลด้วยว่า อุปกรณ์ที่ใช้ได้สองทางทั้งพลเรือนและทหาร อาจถูกรัสเซียนำไปใช้กับยูเครนในช่วงที่รัฐบาลมอสโกหาอาวุธไม่ได้

POLITICO รายงานด้วยว่า Da-Jiang Innovations Science & Technology Co หรือที่รู้จักกันว่า DJI ส่งชิ้นส่วนโดรนจำพวกแบตเตอรีและกล้อง ผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังดิสทริบิวเตอร์รายเล็กของรัสเซียรายหนึ่ง ในเดือน พ.ย.และธ.ค.2565

DJI เป็นบริษัทจีนที่ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐคว่ำบาตรตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากจัดหาโดรนให้รัฐจีนคอยสอดแนมชาวอุยกูร์ในซินเจียง

นอกจากโดรนแล้ว รัสเซียต้องพึ่งอุปกรณ์หลายอย่างจากประเทศอื่นรวมทั้งจีน เช่น อุปกรณ์นำทาง ภายถ่ายดาวเทียม ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อช่วยหนุนการทำสงครามในยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่ยาวนานเกินหนึ่งปี

ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า รัสเซียใช้ปืนไรเฟิลตามข้อมูลการขนส่งดังกล่าวในสนามรบหรือไม่ เทคคริม ไม่ได้ให้ความเห็นกับ POLOTICO แต่เห็นโดรนของ DJI ในสนามรบมาหลายเดือนแล้ว DJI ยังไม่ให้ความเห็นเช่นกัน

สภาความมั่นคงแห่งชาติไม่ให้ความเห็น สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันแถลงว่า รัฐบาลปักกิ่ง “มุ่งมั่นส่งเสริมการเจรจาสันติภาพ” ในยูเครน

 

 

“จีนไม่ได้สร้างวิกฤติ ไม่ได้เป็นภาคีในวิกฤติ และไม่ได้จัดหาอาวุธให้ฝ่ายใดในความขัดแย้ง” หลิว เผิงหยู โฆษกสถานทูตระบุ

ด้านแอนเดรช ซาดอส เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำสหภาพยุโรป กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน เนื่องจากจะส่งผลร้ายแรงมากตามมา

ทั้งนี้ แม้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจะบั่นทอนความสามารถของมอสโกในการนำเข้าสินค้าทุกอย่างตั้งแต่ไมโครชิปไปจนถึงแก๊สน้ำตา แต่รัสเซียยังสามารถซื้อยุทธภัณฑ์มาสนับสนุนการทำสงครามได้จากประเทศที่เป็นมิตรที่ไม่ได้คว่ำบาตรตามตะวันตกอย่างจีนหรือประเทศอ่าวเปอร์เซีย

“สินค้าเชิงพาณิชย์บางอย่าง เช่น โดรนหรือแม้แต่ไมโครชิป สามารถนำไปดัดแปลงได้ เปลี่ยนเป็นสินค้าเพื่อพลเรือนง่ายๆ ไปเป็นสินค้าทางทหารที่อันตรายถึงแก่ชีวิต” แซม เบนเดตต์ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิเคราะห์นาวีรัสเซียศึกษาในกรุงวอชิงตันกล่าวพร้อมเปิดประเด็นว่า สินค้าที่ใช้ได้สองทางอาจช่วยให้รัสเซียได้เปรียบในสนามรบ

ส่วนการติดตามสินค้าเหล่านี้ที่ขนส่งมาจากจีน ผู้เชี่ยวชาญยอมรับยากจะติดตามว่าผู้ซื้อต้องการนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนหรือทหาร

กรณีที่รัฐบาลเครมลินต้องการเทคโนโลยีที่ผลิตได้เฉพาะสหรัฐ อียู หรือญี่ปุ่นเท่านั้น มอสโกก็มีวิธีการอันแยบยลในการหลบเลี่ยงคว่ำบาตร เช่น ซื้ออุปกรณ์จากพ่อค้าคนกลางในประเทศที่ค้าขายจริงใจกับทั้งตะวันตกและรัสเซีย

เดือน ธ.ค.ปีก่อน รัสเซียจัดการนำเข้าเสื้อเกราะเกือบ 80 ตัน มูลค่าราว 10 ล้านดอลลาร์

เสื้อเกราะกันกระสุนเหล่านี้ผลิตโดยบริษัทตุรกี Ariteks ส่วนใหญ่นำเข้าตรงจากตุรกี แม้สินค้าบางรายการส่งผ่านยูเออีมายังรัสเซีย นอกจากนี้รัสเซียยังนำเข้าเสื้อเกราะบางส่วนจากบริษัทXinxing Guangzhou Import & Export Co ของจีนด้วย

ข้อมูลกล่าวถึง Rosoboron บริษัทอาวุธรัสเซีย นับตั้งแต่ปี 2565 ได้นำเข้าไมโครชิป, เครื่องมือตรวจจับความร้อน และอะไหล่ เช่น เครื่องยนต์กังหันแก๊สจากหลายประเทศ ไล่ตั้งแต่จีนไปจนถึงเซอร์เบียและเมียนมา

สินค้าที่ใช้ได้สองทางยังอาจเป็นหนทางให้จีนแอบเพิ่มความช่วยเหลือมอสโกโดยไม่ต้องถูกทางการสหรัฐและยุโรปโต้ตอบด้วย หลังจากเจอคำขู่หากจีนยังเดินหน้าส่งอาวุธให้กองทัพรัสเซีย

สัปดาห์ก่อนนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนี กล่าวว่า จีนต้องได้รับผลตามมาหากส่งอาวุธให้รัสเซีย แต่ก็กล่าวด้วยว่า ยังไม่มีหลักฐานว่าจีนกำลังพิจารณาส่งอาวุธให้มอสโก

“ตอนนี้เราอยู่ในขั้นบอกชัดเจนว่า สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และผมค่อนข้างมองในแง่ดีว่าคำขอของเราจะประสบความสำเร็จในกรณีนี้”

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า จากเอกสารที่เผยแพร่กันในรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรสมานานหลายเดือน อุปกรณ์ทางทหารที่จีนพิจารณาส่งให้รัสเซีย ได้แก่ โดรน กระสุน และอาวุธขนาดเล็กอื่นๆ และสรุปข่าวกรองต่อรัฐบาล คองเกรส และพันธมิตรสหรัฐทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมาชี้ว่า ปักกิ่งอาจส่งอาวุธให้รัสเซีย

“เรามอง (จีน) ส่งความช่วยเหลือให้รัสเซียในบริบทของความขัดแย้ง และเราเห็นสถานการณ์ที่พวกเขาไม่สะดวกใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับระดับความช่วยเหลือ และถ้าจะทำก็ไม่ทำอย่างเปิดเผย เพราะเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียงนี่เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงจริงๆ ทั้งระดับความใกล้ชิดและปริมาณความช่วยเหลือที่พวกเขาให้กันเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาอย่างระมัดระวังมาก” เอฟริล เฮนส์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐแถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 8 มี.ค.

ในเมื่อข้อมูลการขนส่งอุปกรณ์ใช้ได้สองทางให้รัสเซียมีพร้อมแล้ว คาดว่าชาติตะวันตกจะเพิ่มความพยายามสกัด

“เราจะได้เห็นการคว่ำบาตรต่อบุคคลที่ส่งอุปกรณ์ทางทหารให้รัสเซีย ผมมั่นใจว่าเราจะได้เห็นอียูและประเทศอื่นๆ เล่นงานคนเหล่านี้ที่ช่วยส่งวัตถุดังกล่าวให้รัสเซีย” เจมส์ บายร์น จากRoyal United Services Institute กลุ่มคลังสมองกลาโหมสหราชอาณาจักรให้ความเห็น

ส่วนปักกิ่งแม้ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้เพิ่มการสนับสนุนรัสเซียในยูเครน แต่พักหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ไปมอสโกหลายราย วันจันทร์ (20 ม.ค.) ถึงคิวประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังจากจีนเสนอแผนสันติภาพ 12 ข้อ ที่ถูกผู้นำชาติตะวันตกวิจารณ์ว่าคลุมเครือ ไม่มีรายละเอียดว่ารัสเซียต้องถอนทหารออกไป