บลูมเบิร์กวิเคราะห์ หลัง ‘จีน’ เปิดประเทศ บริโภคฟื้นตัวช้าหลายด้าน
หลังจีนล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิดมาหลายปี ชาวจีนต่างวางแผนไปเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน และกลับมาชอปปิง แต่ประชากรของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก กลับไม่ได้ใช้จ่ายมากเท่าที่เคย เพราะมาตรการควบคุมโรคระบาดและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่หลอนตามติดมาเป็นเงา
จริงแล้ว ๆ เมื่อจีนเปิดประเทศ ประชากรจีนใช้จ่ายอย่างไรกันแน่? บลูมเบิร์กวิเคราะห์ ดังนี้
1.บริโภคโต แต่ไม่เท่าเดิม
ชาวจีนรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เกือบเท่าระดับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด
"ไหตี่เลา" หนึ่งในเครือข่ายร้านชาบูหม้อไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน คาดว่า ยอดขายต่อวันช่วงวันหยุดตรุษจีน เมื่อเดือน ม.ค. 66 มากกว่าปี 65 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
"แคทเธอรีน ลิม" นักวิเคราะห์อาวุโสด้านลูกค้าและเทคโนโลยีของบลูมเบิร์กอินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า ความกลัวโควิดของลูกค้าชาวจีนกำลังหมดไป แต่ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ กระตุ้นให้ชาวจีนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
แม้วันหยุดปีใหม่จีน ทำให้การบริโภคพุ่งในหลายภาคส่วน แต่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น ยังคงหายไปท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโควิด จำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น และความกังวลเศรษฐกิจ
เห็นได้ชัดเจนจากยอดจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ในจีนแตะ 6,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 แต่เมื่อดูในระยะยาว ยอดจำหน่ายตั๋วยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
โดยยอดขาย 10 สัปดาห์แรกของปี 66 เพิ่มขึ้นประมาณ 13% จากปีก่อน สู่ระดับ 14,000 ล้านหยวน แต่ลดลงจากปี 2562 12%
2.ชอปปิงระมัดระวังมากขึ้น
ลูกค้าจีนยังคงใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวและซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพ ตั้งแต่อุปกรณ์ฟิตเนสไปจนถึงสมัครสมาชิกคลับกีฬาและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนั่งสมาธิ จนนำไปสู่การใช้จ่ายด้านสินค้าแฟชันไฮเอนด์และกระเป๋าแพง ๆ
การชอปปิงของคนจีนแต่ละเจนมีความแตกต่างกันด้วย
ข้อมูลจากโอลิเวอร์ ไวแมน บริษัทที่ปรึกษานานาชาติ ระบุว่า ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 คนจีนเจนมิลเลนเนียล ที่เกิดช่วงปี 2524-2539 คาดว่า จะใช้จ่ายด้านสุขภาพและกีฬาเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ขณะที่เบบี้บูมเมอร์คนเจนแรกที่ยอมรับแบรนด์ตะวันตกอย่างแท้จริง กลับมีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยที่สุดเมื่อโรคระบาดลดลง และปี 66 การซื้อสินค้าหรูของคนเจนนี้ลดลงมากที่สุด
และเรียกได้ว่า การบริโภคจีนฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ หลังเปิดประเทศ
"แลร์รี หู" หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีน จากแมกไกว กรุ๊ป กล่าวว่า “อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการฟื้นตัวจีนคือ ความเชื่อมั่นของลูกค้ายังไม่ฟื้นกลับมา”
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของคนจีน ยังขึ้นอยู่กับการสร้างงานที่แข็งแกร่งในประเทศ แต่ตลาดแรงงานจีนยังคงอ่อนแอ
โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัตราว่างงานในจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.6% ในเดือน ก.พ. ส่วนอัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวนั้นแย่กว่ามาก เพราะว่างงานพุ่งสูง 18.1% ในรอบ 6 เดือน
3.สินค้าชิ้นใหญ่ยังคงลังเล
แม้การเปิดประเทศกระตุ้นให้คนจีนกลับมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนยอดขายอพาร์ทเมนท์เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 66 หลังลดลง 22% ในช่วงสองเดือนแรกของปี 65
แต่เมื่อถึงเวลาต้องซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ลูกค้าชาวจีนยิ่งลังเลมากขึ้น
ยอดจำหน่ายรถยนต์ร่วง 9.4% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อน และในจีนมีผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดมากกว่า 200 บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องลดราคาและเสนอโปรโมชันเงินสดเพื่อดึงดูดลูกค้า
4.ท่องเที่ยวไม่เต็มที่
แวริไฟลต์ บริษัทเทคโนโลยีที่ติดตามข้อมูลการเดินทางทางอากาศ เผยว่า ขณะนี้สนามบินจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังเปิดประเทศวันที่ 8 ม.ค. แต่ระดับการให้บริการเที่ยวบินเมื่อวันที่ 16 มี.ค. คิดเป็น 22% ของระดับเที่ยวบินในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด
สปริงแอร์ไลน์ สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของจีน บอกว่า ความต้องการเดินทางไปต่างประเทศของจีนยังคงอ่อนแอ และความสามารถในการบริการเที่ยวบินของบริษัทมีเพียง 20% ของระดับบริการช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
“แอกเนส ซู” ผู้ร่วมก่อตั้งหัวหน้าฝ่ายวิจัย จากแซนดัลวูด แอดไวเซอร์ บริษัทให้บริการข้อมูลทางเลือก เผยว่า การเดินทางทางอากาศไม่ได้ฟื้นตัวช้าเพราะไฟลต์บินมีจำกัดเท่านั้น แต่ผู้คนจำเป็นต้องใช้เวลาจองตั๋วไปต่างประเทศ เพราะหลายประเทศต้องให้คนจีนขอวีซ่า และบางประเทศยังขอผลตรวจโควิดเป็นลบจากนักท่องเที่ยวจีน
หู จากแมกไกว บอกว่า “เมื่อเทียบกับสหรัฐ การฟื้นตัวหลังโควิดของจีนยังช้ากว่า สหรัฐใช้จ่ายอย่างบ้าคลั่ง แต่จีนไม่ ความเชื่อมั่นของลูกค้าหลังสหรัฐเปิดประเทศนั้นมากกว่าจีน และรัฐบาลให้เงินอุดหนุนมากมาย แต่จีนไม่มี การฟื้นตัวของจีนเพิ่งเริ่มต้น”