สหรัฐอเมริกายังไม่ล่ม...แล้วไง? | ไสว บุญมา
ณ วันนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สหรัฐไม่ประสบวิกฤติถึงขั้นล่มจมจากการล้มของธนาคาร 2 แห่งดังที่มีผู้หวังจะให้เกิดขึ้น การล้มของธนาคารชี้ให้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างพร้อมกับคำถามตามมา
การล่มของธนาคารเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา หากมองว่าธนาคารเป็นกิจการแสวงหากำไรในระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก แต่การล่มดังกล่าวสร้างความกังวลสูงมาก เนื่องจากธนาคารคู่นั้นมีขนาดใหญ่ในระดับกลางของสหรัฐและมีลูกค้าจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดผลกระทบไปตามปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างกว้างขวาง
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น หากแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และไม่เว้นแม้แต่ธนาคารขนาดใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้เพราะในยุคนี้โลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น
การล่มของธนาคารขนาดใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ คงสร้างความประหลาดใจไม่น้อยแก่คนทั่วไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์รวยกว่าและบริหารจัดการบ้านเมืองได้ดีกว่ามาก
แต่ผู้ที่ติดตามความเป็นไปในแวดวงเศรษฐกิจจะไม่แปลกใจ เนื่องจากธนาคารที่ล่มไปนั้นมีปัญหาด้านการบริหารจัดการมานาน กระทั่งเคยถูกศาลสั่งลงโทษเกี่ยวกับการเอื้อให้อาชญากรข้ามชาติฟอกเงิน
หลังจากรัฐบาลอเมริกันและรัฐบาลสวิสพร้อมกับธนาคารด้วยกัน ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ขยายของปฏิกิริยาโลกโซ่ ความกังวลโดยทั่วไปได้ลดลงจนภาวะปกติดูจะกลับคืนมาแล้ว อย่างไรก็ดี ยังอาจมีผู้ถามต่อไปจากหลายแง่มุม
เช่น เพราะอะไรรัฐบาลจึงต้องเข้าไปอุ้มธนาคารในเมื่อมันเป็นกิจการแสวงหากำไรของเอกชน หรือโลกมีนักเศรษฐศาสตร์เก่ง ๆ มากมายรวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบล ทำไมยังไม่สามารถออกแบบนโยบายที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่เห็นอยู่เป็นประจำรวมทั้งการล่มของธนาคาร
สำหรับคำถามแรก อาจตอบว่าเพราะรัฐบาลที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของตลาดเสรีของอดัม สมิธ อย่างเคร่งครัด โดยเอื้อให้ธนาคารขยายตัวได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ในสหรัฐ รัฐบาลเพิ่งเปลี่ยนกฎหมายที่เอื้อให้ธนาคารทำได้เช่นนั้นเมื่อราว 30 ปีมานี้เอง เมื่อธนาคารมีขนาดใหญ่มาก หากปล่อยให้ล่ม เศรษฐกิจย่อมล่มตามไปด้วย
สภาพนี้มีค่าเท่ากับรัฐบาลและสังคมถูกจับเป็นตัวประกันโดยธนาคาร การเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวมองได้ว่าเกิดขึ้น เพราะภาคกิจการธนาคารร่ำรวยจนมีอิทธิพลเหนือนักการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลของการละเมิดกฎเกณฑ์ของทั้งระบอบประชาธิปไตยและระบบตลาดเสรี
สำหรับคำถามหลัง อาจตอบได้ว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์จะได้รับการยอมรับว่ามีความรอบรู้ แต่พวกเขายังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างถูกต้องว่าชาวโลก 8 พันล้านคนจะตัดสินใจทำอะไรในแต่ละวัน และการกระทำเหล่านั้นจะก่อให้เกิดอะไรต่อไป
เนื่องจากในยุคดิจิทัลการตัดสินใจของแต่ละคน มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับต่อการตัดสินใจของเพื่อนร่วมโลกอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดเดาไม่ได้ว่า เงินดิจิทัล หรือคริปโทฯ ที่เอกชนประดิษฐ์ขึ้นมานั้นจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร
ผู้ช่างสังเกตย่อมทราบแล้วว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความรอบรู้ถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบลนั้น มักเป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักซึ่งมีจุดอ่อนอันสำคัญยิ่ง นั่นคือเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด
ความเชื่อนี้ถูกโจมดีโดยทั้งนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันเองชื่อ “เคนเนธ บูลดิง” และนักประวัติศาสตร์ธรรมชาติชื่อ “เดวิด แอตเทนโบโรวา” “บ้า” (คำพูดที่นำมาอ้างกันอย่างกว้างขวางได้แก่ Anyone who believes in indefinite growth on a physically finite planet is either mad, or an economist.)
การล่มของธนาคารคราวนี้ชี้ให้เห็นอีกครั้งถึงการเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นของชาวโลก ของความจำกัดของความรู้เกี่ยวกับการตัดสินใจของพวกเขา และของความสำคัญของการทำตามกฎเกณฑ์
ผู้ที่มองว่าสหรัฐน่าจะล่มจมจากการล่มของธนาคาร ดูจะมองว่าชาวโลกมีทางเลือกที่ดีกว่าแนวของสหรัฐ เช่น แนวของจีน แต่ถ้ามองต่อไปจะเห็นว่า ทั้งสองไม่ต่างกันโดยพื้นฐานเพราะต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจนอาจก่อให้เกิดสงครามล้างโลก