วิกฤติ SVB จุดเริ่มต้นวิกฤติการเงินโลกครั้งใหม่? | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ปัจจุบันสัญญาณต่างๆ บ่งชี้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจและภาคการเงินโลกมีความเสี่ยงที่จะแตกแยกออกเป็น 2 เสี่ยง ในฟากเศรษฐกิจ
เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและยุโรป ทำให้ธนาคารกลางยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อที่จะคุมเงินเฟ้อ
แต่ในภาคการเงิน การที่ทางการสหรัฐสั่ง 3 ธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลงในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ พร้อมออกมาตรการคุ้มครองเงินฝาก 100% แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้
หุ้นในกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐที่ตกต่ำต่อเนื่อง ประกอบกับผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี (ซึ่งเป็นตัวแทนของการที่ตลาดมองว่าภาพทิศทางดอกเบี้ยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร) ที่ลดต่ำลงกว่า 1% ในไม่กี่วัน
บ่งชี้ว่าภาคการเงินกำลังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป จนนำมาสู่จุดเปราะบางและความเสี่ยงของการล่มสลายของเศรษฐกิจ
จุดเริ่มต้นของวิกฤติครั้งนี้เกิดจากธนาคาร Silicon Valley Bank ถูกสำนักงานประกันเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corp.) สั่งปิด โดยได้โอนเงินฝากทั้งหมดเข้ากับหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าว ขณะที่ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนเท่ากับจำนวนที่ได้รับการประกัน (2.5 แสนดอลลาร์)
ธนาคารแห่งนี้ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐ มีสินทรัพย์มูลค่า 2.09 แสนล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ บริษัทแม่ของธนาคารที่ชื่อ SVB Financial Group เร่งเพิ่มทุนหลังจากยกเลิกการขายหุ้นมูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์ที่วางแผนไว้เมื่อต้นเดือน มี.ค. หลังจากที่ Moody’s Investor Service ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดสถานการณ์ Bank Run โดยผู้ฝากเงินในธนาคาร SVB พยายามถอนเงิน 42,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของธนาคารเงินฝากทั้งหมด
การถอนเงินจำนวนมากทำให้ธนาคารมียอดเงินสดคงค้างติดลบเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ และไม่สามารถชำระบัญชีกับธนาคารกลาง (Fed) ได้ จึงนำมาสู่การที่ FDIC สั่งปิดดังกล่าว
สาเหตุที่ SVB ประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากลูกค้าเป้าหมายหลักของธนาคารได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เงินฝากของ SVB เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (จนเกือบถึงระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2565)
เนื่องจากลูกค้าหลักของ SVB ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี มีเงินสดเป็นจำนวนมากจากเงินลงทุนของ VC (Venture Capital-บริษัทร่วมทุน) ต่างๆ ขณะที่ยังไม่มีโอกาสที่จะลงทุน จึงนำเงินมาฝากกับ SVB แต่ SVB ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในอัตราเดียวกับที่ได้รับเงินฝาก SVB จึงนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว
เมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 งบดุลของบริษัทจึงได้รับผลกระทบ เนื่องจากในด้านสินทรัพย์ของงบดุล ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้มูลค่าของพันธบัตรระยะยาวเหล่านั้นลดลง
ขณะที่ในด้านหนี้สิน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ความน่าสนใจในธุรกิจเทคโนโลยีน้อยลง ทำให้มีเงินฝากใหม่ลดลง และเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น แต่ SVB ไม่สามารถปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก
ลูกค้าเงินฝาก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ) จึงเริ่มถอนเงินฝากออก ทำให้เริ่มประสบปัญหาการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเส้นผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ (Inverted Yield Curve) ทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นรุนแรง
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยจากฝั่งสินทรัพย์เพิ่มขึ้นน้อยกว่า และยิ่งเมื่อผู้ฝากมีการถอนกลับเพื่อฝากใหม่และได้ดอกเบี้ยสูงกว่า (Roll-over) ทำให้ต้นทุนของธนาคารยิ่งเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงต้องออกหุ้นกู้และทำการเพิ่มทุน
แต่เมื่อไม่สามารถระดมทุนใหม่ได้และหุ้นกู้เผชิญกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จึงเกิดภาวะ Bank Run จะเป็นสาเหตุของการล้มละลายดังกล่าว
ในมุมมองความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการทางการเงิน ปัญหาของ SVB เป็นปัญหาเฉพาะตัวในระดับหนึ่ง เนื่องจาก
- ลูกค้าเงินฝากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจ ซึ่งมีการบริหารจัดการต้นทุนการเงิน ต่างจากธนาคารทั่วไปที่มีลูกค้าบุคคลมากกว่า
- ธนาคารอื่นๆ มีสินทรัพย์ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวมากกว่า SVB ที่มีพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ การที่ธนาคารอื่นๆ มีสินทรัพย์ที่ดอกเบี้ยคงที่น้อยกว่า จึงเสี่ยงต่อการขาดทุนจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวบ่งชี้ว่าธนาคารสหรัฐโดยภาพรวมจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากภาวะ Inverted Yield Curve ที่รุนแรงขึ้น โดยจะทำให้ต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินฝาก (ซึ่งต้อง Roll over บ่อย) เพิ่มมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ข้อถกเถียงการทำ ‘Bailout’ สหรัฐ - ทำไม ‘SVB’ จึงเป็นการ ‘Bailout’ อย่างแท้จริง
- ‘สตาร์ตอัป’ จีนสะเทือนหลัง SVB ล้ม เหตุฝากเงินไว้จำนวนมาก
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดลบ นักลงทุนกังวลวิกฤติเอสวีบีลามหนัก
ขณะที่มีรายได้จากสินเชื่อต่ำกว่า และหากธนาคารใดมีสินเชื่อที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ และ/หรือถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากๆ เช่น SVB แล้ว นั้นก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนมากขึ้น
เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น และเสี่ยงจะลุกลามเป็นวงกว้าง เนื่องจากลูกค้าของ SVB ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจใช้ SVB ในการทำธุรกรรมสำคัญ
เช่น จ่ายเงินเดือน รวมถึงเป็นบัญชีหลักในการทำธุรกิจ การคุ้มครองเงินฝากเพียง 2.5 แสนดอลลาร์ต่อบัญชี อาจทำให้วิกฤติลุกลามเข้าสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ทางการสหรัฐจึงประกาศเข้าคุ้มครองเงินฝาก SVB และ Signature Bank (ซึ่งเป็นอีกธนาคารที่ทางการสั่งปิด) 100% จากที่เคยประกัน 250,000 ดอลลาร์ต่อบัญชี
รวมถึงมีการประกาศตั้ง Bank Term Funding Program โดยเป็นเครื่องมือให้ยืมเงินไม่จำกัดจำนวนแก่ธนาคารเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยใช้พันธบัตรเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้วงเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม แม้ทางการประกาศมาตรการขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่สามารถหยุดวิกฤติความเชื่อมั่น หุ้นของ First Republic Bank ตกต่ำกว่า 70% หลังเปิดตลาด และฉุดหุ้นของธนาคารขนาดกลางลดลง
ขณะที่ตลาดส่งสัญญาณสับสนยิ่งขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น และค่าเงินดอลลาร์ รวมถึงความผันผวนในตลาดยุโรปบ่งชี้ว่าตลาดเริ่มมองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องลดลงเพื่อยุติความผันผวนดังกล่าว
หากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว มุมมองนั้นก็ถูกต้องในระดับหนึ่ง วิกฤติธนาคารครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์ Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นถูกกระชากขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย
และหากไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้ดอกเบี้ยระยะสั้นลงตาม (หรือถอนสภาพคล่องมากขึ้นเพื่อดึงดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวสูงขึ้น ซึ่งทำไม่ได้เพราะจะยิ่งทำให้ธุรกิจทั่วสหรัฐประสบปัญหาล้มละลาย) เส้นผลตอบแทนพันธบัตรก็จะไม่กลับมาเป็นปกติ
ผู้เขียนเชื่อว่า เป็นไปได้ว่าในระยะต่อไป Fed จะถูกบีบโดยตลาดการเงินมากขึ้น หากยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ความปั่นป่วนของตลาดก็จะมากขึ้น ขยายตัวเป็นวงกว้าง และกดดันให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยแรงในที่สุด และเป็นไปได้ว่าวิกฤติจะลุกลามไปสู่ยุโรปในช่วงต่อไป
วิกฤติการเงินโลกครั้งใหม่กำลังเริ่มต้น โปรดระมัดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่