บลจ.กสิกรไทย ย้ำได้รับผลกระทบน้อยมาก มองวิกฤต SVB อยู่ในวงจำกัด

บลจ.กสิกรไทย ย้ำได้รับผลกระทบน้อยมาก มองวิกฤต SVB อยู่ในวงจำกัด

บลจ.กสิกรไทย ย้ำไม่มีการลงทุนโดยตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมสัดส่วนน้อยมาก มองผันผวนระยะสั้นเท่านั้น และวิกฤต SVB ล้ม อยู่ในวงจำกัด ขณะที่ สมาคม บลจ.ยันไม่พบกองทุนไทยลงทุนโดยตรงใน SVB เกี่ยวข้องน้อย และยังมีมาตรการรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

จากประเด็นข่าว Silicon Valley Bank (SVB)  ถูกรัฐบาลสหรัฐฯสั่งปิด และเข้าควบคุมกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องนั้น  บลจ.กสิกรไทย ขอแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่า บลจ.กสิกรไทย ไม่มีการลงทุนตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลักในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบน้อยมากและผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงมีความผันผวนและได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาคธนาคารของสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะเข้ามาดูแลปัญหาของ SVB ได้อย่างรวดเร็วแล้วก็ตาม ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนได้มากน้อยเพียงใด 

 

"บลจ.กสิกรไทย ประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะไม่ลุกลามและอยู่ในกรอบจำกัด โดยอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ในระยะสั้น แต่มองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว" 

บลจ.กสิกรไทย แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณาหรือชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐ โดยประเมินสถานการณ์ก่อนการลงทุน ส่วนกองทุนหุ้นเอเชีย กองทุนหุ้นจีน และกองทุนหุ้นไทย รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ ยังคงเข้าลงทุนได้

ขณะเดียวกัน สมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC)  ได้มีการตรวจสอบกองทุนในภาพรวมในเบื้องต้น โดย นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย  ในฐานะนายก AIMC กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทุกกองไม่มีการลงทุนโดยตรงในหุ้นของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) 

แต่กองทุนต่าง ๆ ที่มีการลงทุนในสหรัฐ ทั้งหมดเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศหรือกองทุนหลัก ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SVB คิดเป็นสัดส่วนราว 1-2% ณ สิ้นปี 2565 เท่านั้น

 แม้ปัญหา SVBเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบในแง่เซ็นทริเมนต์และไม่น่จะเกิดผลกระทบระยะยาว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

"เหตุการณ์นี้มองว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบ นอกจากนี้ปัญหา SVB ไม่ใช่แบงก์ขนาดใหญ่เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2551และเน้นการปล่อยกู้ให้กลุ่มสตาร์อัพเป็นหลัก  เชื่อว่าแต่ละ บลจ.มีมาตรการดูแลรับผิดชอบหากเกิดปัญหาขึ้นอยู่แล้ว