ชะตากรรม ‘ดอยซ์ แบงก์’ ‘แค่หุ้นร่วง’ หรือ ‘รอล้ม’?
เกาะติดสถานการณ์ราคาหุ้นดอยซ์ แบงก์ แม้เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ยุโรปจะขยับขึ้นเล็กน้อย หลังร่วงลงต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความหวาดหวั่นนักลงทุนว่า ธนาคารแห่งนี้จะล้มไม่เป็นท่าเป็นรายต่อไป เหมือนซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ และเครดิตสวิสเจอปัญหาขาดทุนมากมายหรือไม่
เมื่อบรรดานักลงทุนพากันเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ตกเป็นเป้าของนักลงทุนทั่วโลก ราคาหุ้นธนาคารดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 เหนือระดับ 2% จากระดับ 1.73%
สิ่งที่คุณควรรู้ในวันนี้คือ
ราคาหุ้นดอยซ์แบงก์ลดลงถึง 30%ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แค่เฉพาะวันศุกร์ (24 มี.ค.) ทรุดลงถึง 8.22% ท่ามกลางกระแสข่าวค่าใช้จ่ายในการประกันการผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้น
จนทำให้นายกรัฐมนตรีโอลัฟ ช็อลทซ์ของเยอรมนี ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ธนาคารเยอรมันแห่งนี้ ซึ่งมีกำไร 10 ไตรมาสติดต่อกันนั้น จะมีสถานะความสามารถในการชำระหนี้และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งจะลดลงเหมือนกับเครดิตสวิส (Credit Suisse)
ท่ามกลางวิกฤติการเงินโลก ลูกค้าในสหรัฐถอนเงินรวม 9.84 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.6% ของเงินฝากทั้งหมดจากธนาคารในสหรัฐ ตามข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐ โดยแหล่งข่าวบอกเว็บไซต์ CNBC ว่า ธนาคารขนาดเล็กมีเงินไหลออก 120,000 ล้านดอลลาร์
ขณะที่สถาบันขนาดใหญ่มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 67,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวจากธนาคารขนาดเล็กไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่จะชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
สถานการณ์ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความเชื่อมั่นหลังธนาคาร SCV ล้มไม่เป็นท่าก่อนสหรัฐจะออกมาตรการต่างๆ ยื่นเข้าช่วยเหลือ
คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่าการที่ธนาคารบางแห่งล้มสะลายเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่ง GDP จีนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ 1% จะมีส่วนช่วยให้เพิ่ม GDP ประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ถึง 0.3% ตามการประมาณการของ IMF