จีนปล่อยกู้ อุ้มประเทศกำลังพัฒนา สร้างเส้นทางสายไหม 240,000 ล้านดอลล์
สำนักข่าวรอยเตอร์ เผยว่า จีนให้เงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา 22 ประเทศ มูลค่า 240,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2564 และปล่อยกู้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการหลายแห่งมีปัญหาชำระหนี้ที่ใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงการเส้นทางสายไหม
จีนปล่อยสินเชื่อหลายแสนล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา แต่การให้สินเชื่อเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากหลายโครงการไม่สามารถจ่ายเงินปันผลคืนได้ตามที่คาดไว้
รายงานของนักวิจัยจากสถาบันฮาร์วาร์ด เคนเนดี, เอดดาตา และสถาบันคีลเพื่อเศรษฐกิจโลก ระบุว่า สินเชื่อช่วยเหลือเกือบ 80% ที่ปล่อยกู้ระหว่างปี 2559-2564 ของจีน มอบให้กับประเทศรายได้ปานกลางเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งอาร์เจนตินา มองโกเลีย และปากีสถาน
‘คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท’ อดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก และหนึ่งในผู้เขียนวิจัยนี้ กล่าวว่า “จีนพยายามกอบกู้แบงก์ชาติอย่างสุดความสามารถ จึงเป็นสาเหตุให้จีนมีความเสี่ยงทางธุรกิจ จากการปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นๆ”
จีนให้สินเชื่อกับหลายประเทศที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่เดิมจีนปล่อยกู้ต่ำกว่า 5% ในปี 2553 และปล่อยกู้สูงถึง 60% ในปี 2565 ซึ่งอาร์เจนตินาได้รับสินเชื่อมากที่สุด 111,800 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นปากีสถาน 48,500 ล้านดอลลาร์ และอียิปต์ 15,600 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 9 ประเทศได้รับสินเชื่อไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์
ธนาคารประชาชนจีนได้ทำสว็อปไลน์ (swap lines) เพื่อฟื้นคืนสภาพคล่องทางการเงิน 170,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงทำสว็อปไลน์ให้กับซูรินาเม ศรีลังกา และอียิปต์ และแบงก์ชาติจีนยังให้วงเงินกู้ระยะสั้น 70,000 ล้านดอลลาร์ด้วย
ผลการศึกษานี้ มีความสำคัญต่อธนาคารกลางบางแห่งที่ใช้วิธีสว็อปไลน์เหมือนแบงก์ชาติจีน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ การปล่อยกู้เงินเพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เน้นที่ประเทศรายได้ปานกลางที่กู้เงิน 4 ใน 5 ของเงินปล่อยกู้ เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าการกู้เงินประเทศนั้นๆ อาจกระทบงบดุลของธนาคารจีน ขณะที่ประเทศรายได้น้อยได้ผ่อนผันชำระหนี้ และขยายเวลาชำระหนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์