‘ไทย’ ชูเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ คัมภีร์ปลุกเศรษฐกิจบิมสเทค

‘ไทย’ ชูเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ คัมภีร์ปลุกเศรษฐกิจบิมสเทค

บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีผู้บริโภคร่วมกันกว่า 1,500 ล้านคน จัดได้ว่าเป็นตลาดใหญ่กว่าประเทศจีน ซึ่งประเทศสมาชิกบิมสเทคเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก นั่นหมายถึงไทยกำลังดีลกับกลุ่มภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านการบริโภคสูง

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสาหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีผู้บริโภคร่วมกันกว่า 1,500 ล้านคน จัดได้ว่าเป็นตลาดใหญ่กว่าประเทศจีน ซึ่งประเทศสมาชิกบิมสเทคเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก นั่นหมายถึงไทยกำลังดีลกับกลุ่มภูมิภาคที่มีศักยภาพด้านการบริโภคสูง

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยในฐานะประธานบิมสเทค วางหมุดหมายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อให้อนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้างสู่โอกาส (Prosperous, Resilient and Robust, Open BIMSTEC) หรือ “PRO BIMSTEC”

การระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศในกลุ่มบิมสเทคที่มีศรีลังกาได้รับความเสียหายมากที่สุด ไทยเองเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเห็นว่า เราต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้งกับประเทศสมาชิกบิมสเทค

“ไทยเป็นประเทศยื่นมือให้ความช่วยเหลือในช่วงศรีลังกายากลำบาก เช่นเดียวกับอินเดียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกบิมสเทคที่ยืนหยัดเคียงข้างอยู่เสมอ” เชิดชายกล่าวและเสริมว่า เพื่อความอยู่รอด จึงเปิดให้สมาชิกทุกประเทศได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการออกแบบวางแผนเพื่ออนาคตของประชาชนในบิมสเทค
 

พลิกโฉมความร่วมมือ ศก.ยั่งยืน

ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพบิมสเทคได้วางโจทย์ไว้เบื้องต้นคือ ออกแบบวิธีคิดใหม่ที่เน้นมองหาความยั่งยืน สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกัน และจัดตั้งกองทุนเงินฉุกเฉิน สิ่งเหล่านี้เป็นผลรูปธรรมจะเกิดขึ้นในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

“เราได้พูดคุยกับศรีลังกา (ประธานปีก่อนส่งไม้ต่อให้ไทย) ได้ร่วมกันคิดและมองปัญหา เพื่อสร้างวิสัยทัศน์บิมสเทคในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยไทยมุ่งใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในแต่ละสาขา” เชิดชายกล่าว 

ชงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สู่ที่ประชุมผู้นำ พ.ย.66

ในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ครั้งที่23 เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเรื่องเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ (Bangkok vision 2030) เป็นการเร่งด่วนเพื่อส่งต่อให้กับที่ประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทคครั้งที่ 19 ซึ่งมีดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานได้ร่วมกันกับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกให้การรับรองเอกสารนี้ เพราะมีความจำเป็นให้แต่ละประเทศสมาชิกบิมสเทคได้เริ่มกระบวนการภายในประเทศ คาดว่าถ้าเป็นไปตามแผนจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่6 จะจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.2566 

‘ไทย’ ชูเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ คัมภีร์ปลุกเศรษฐกิจบิมสเทค
 

ส่วนเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ จะมีเนื้อหาเน้นการขจัดความยากจน ลดช่องว่างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพ ส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เป็นการชูบทบาทกลุ่มความร่วมมือบิมสเทคให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

‘เมียนมา’ สายล่อฟ้าวิจารณ์บิมสเทค

เชิดชายกล่าวว่า แต่ก่อนจะไปถึงการประชุมผู้นำบิมสเทค จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการในกลางปีนี้ ซึ่งเป็นการหารือโต๊ะกลมพูดคุยสถานการณ์ระดับภูมิภาค การเมือง และเศรษฐกิจในกรอบบิมสเทค ขณะเดียวกันจะรับฟังความเห็นจากสมาชิกที่เป็นความกังวลและสนใจร่วมกัน อาทิ พัฒนาการในเมียนมา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในศรีลังกา ซึ่งที่ผ่านมาไทยผลักดันให้เกิดการสนทนาระหว่างประเทศสมาชิก เพราะต้องการเห็นบิมสเทคเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรับมือสถานการณ์ฉับไวมากขึ้น

“การประชุมผู้นำบิมสเทคจะมีความพิเศษตรงที่จะเชิญผู้นำประเทศที่มีความสนิทใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในบิมสเทคเข้าร่วมด้วย ตลอดจนองค์กรพันธมิตร เช่น เอดีบี และดับบลิวทีโอ” เชิดชายระบุ 

ส่วนความกังวลต่อการจะมีผู้แทนเมียนมาเข้าร่วมการประชุมบิมสเทค ซึ่งอาจตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศต่างๆ เพราะเป็นผู้แทนจากรัฐบาลรัฐประหารนั้น เชิดชายมองว่า บิมสเทคเป็นการประชุมที่เปิดกว้าง และไม่เคยมีการหยิบยกเรื่องระดับผู้แทนเมียนมาขึ้นเป็นปัญหา และยืนยันว่า “ไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อความร่วมมือในกลุ่มบิมสเทคแต่อย่างใด”

ไทย ผู้เล่นหลักเชื่อมโยง ศก.

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกในบิมสเทค และกลุ่มความร่วมมือที่มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าพูดให้เห็นภาพกว่านั้นในเชิงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค “ไทยเป็นสะพานเชื่อม” ประเทศอ่าวเบงกอลกับกลุ่มลุ่มน้ำโขง ในฐานะที่เราเป็นผู้ขับเคลื่อนและมีบทบาทด้านการเชื่อมโยงที่โดดเด่นอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันก็เป็นประตูไปมาหาสู่ระดับประชาชนกับประชาชน ซึ่งพบว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มบิมสเทคเติบโตอย่างมาก แค่เฉพาะอินเดียมีจำนวน 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมายังประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เชิดชายคาดการณ์ว่า กลุ่มความร่วมมือบิมสเทคจะเป็นตลาดการค้าและการท่องเที่ยวที่มีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดหลายสิบเท่าในระยะ 5 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เอกชนไทยใช้เป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดเอเชียใต้ที่ช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล