สตาร์ตอัปอาเซียนขาดแรงงานทักษะสูง ยุค‘บริษัทเทคฯ’แห่เลย์ออฟ
สตาร์ตอัปอาเซียนขาดแรงงานทักษะสูง ยุค‘บริษัทเทคฯ’แห่เลย์ออฟ ขณะผลศึกษาพบว่า วิศวกรเป็นตำแหน่งงานที่ทั้ง 3 ภูมิภาคต้องการมากที่สุด มีฐานเงินเดือนต่อปีสูงถึง 235,200 ดอลลาร์
สำนักข่าวนิกเคอิ เผยผลวิจัยใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (4 เม.ย.) ระบุว่า บริษัทสตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะด้านท่ามกลางกระแสปลดพนักงานของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เพราะรับสมัครพนักงานมากเกินไป แต่สตาร์ตอัปไม่สามารถเสนอค่าจ้างที่สามารถแข่งขันเพื่อดึงบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญและมีคุณภาพสูงไว้ได้
ข้อมูลจากกลินต์ส (glints) บริษัทส่งเสริมศักยภาพแรงงานซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ระบุว่า ผู้ประกอบการประมาณ 86% มีแผนจะเพิ่มจำนวนพนักงานในปีนี้ เนื่องจากความต้องการแรงงานด้านวิศกรรมและนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลในตลาดยังสูงอยู่
แรงงานกลุ่มดังกล่าว มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าตำแหน่งงานที่ไม่ใช่งานด้านเทคโนโลยีมากถึง 38% เช่น พนักงานขายและนักการตลาด
ข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้ได้จากการศึกษาตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีของบริษัทสตาร์ตอัปในสิงคโปร์ อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งกลินต์ส และมังก์ ฮิลล์ เวนเชอร์ วิเคราะห์ข้อมูลจากการโพสต์รับสมัครงานในฐานข้อมูลของตนเองกว่า 10,000 ข้อมูลและทั้งสองบริษัทยังสำรวจพนักงานและธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นจำนวนกว่า 500 แห่ง ในตลาดแรงงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ออสวอลด์ โย” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารกลินต์ส ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เอเชีย ว่า“นี่คือการกระจายแรงงานที่มีความสามารถ จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และบริษัทที่อยู่ในระยะเติบโต สู่บริษัทสตาร์ตอัปที่อยู่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบนิเวศทางธุรกิจ”
ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทกลินต์ส ยังกล่าวว่า เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อน ความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยียังน้อยกว่าช่วงนี้
กลินต์ส เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหางานที่มีคนใช้งานมากที่สุดในภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเชื่อมโยงแรงงานระดับมืออาชีพมากกว่า 3 ล้านคนกับบริษัทสตาร์ตอัปและองค์กรต่าง ๆ กว่า 50,000 แห่ง
เมื่อปี 2565 “ซี (Sea)” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ปลดพนักงานมากกว่า 7,000 คน ส่วนบริษัทGoTo ของอินโดนีเซียปลดพนักงานประมาณ 12% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย
ส่วนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาคหลายแห่งของสหรัฐ อย่าง กูเกิล,เมตา บริษัทแม่เฟซบุ๊ก และอเมซอน ต่างก็ปลดพนักงานด้วยเช่นกัน
“แต่ความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเห็นความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม อย่างเช่น ธนาคารและภาคธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้อยากเปลี่ยนองค์กรเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น” โยกล่าว
ผลการศึกษาพบว่า วิศวกรเป็นตำแหน่งงานที่ตลาดทั้ง 3 ภูมิภาคต้องการมากที่สุด รวมทั้งตำแหน่งรองประธานบริหารด้านการเขียนแบบวิศวกรรม ซึ่งมีฐานเงินเดือนต่อปีสูงถึง 235,200 ดอลลาร์ ในปีที่แล้ว
ส่วนตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการรองลงมา คือ ตำแหน่งงานที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนสูงเช่นกัน
“จัสติน เหวียน” หุ้นส่วนทั่วไปของมังก์ ฮิลล์ เวนเชอร์ บอกว่า บริษัทยังเห็นช่องว่างขนาดใหญ่ในระบบซัพพลายเชนและความต้องการแรงงาน ตัวอย่างเช่น ในเวียดนาม คาดว่าจะเจอปัญหาขาดแคลนวิศวกรประมาณ 100,000 คนทุกปี
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าว ยังคาดการณ์ว่า ค่าตอบแทนในตำแหน่งงานด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอาจเริ่มลดลงหรือคงที่ในปีนี้
กลินต์ส กล่าวว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างในอินโดนีเซีย อาจเพิ่มขึ้นสูงสุด 10% ลดลงจาก 25%-40% ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนาม ค่าจ้างอาจเพิ่มขึ้นสูงสุด 15% และ 10% ตามลำดับ
รายงาน ระบุว่า “ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับสตาร์ตอัปหลายแห่ง ตอนนี้ผู้ก่อตั้งบริษัทหลายคน จำเป็นต้องทำงานมากขึ้นใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และมีระเบียบวินัยในการดำเนินธุรกิจ ปฏิบัติตามแผนเพื่อสร้างผลกำไรและดำเนินงานให้กระแสเงินสดเป็นบวก”
อย่างไรก็ตาม เพื่อเติมเต็มแรงงานที่ขาดหายไป สาตาร์ตอัปหลายแห่งจึงเลือกมอบหุ้นให้กับพนักงานบริษัทเพื่อสร้างแรงจูงใจ
ผลสำรวจล่าสุด บ่งชี้่ว่า สตาร์ตอัป 86% เสนอขายหุ้นให้พนักงานแต่เป็นการเสนอขายหุ้นอย่างจำกัด โดยให้พนักงานแค่ 1 ใน 3 ของบริษัท ส่วนใหญ่เสนอให้กับผู้จัดการและระดับผู้บริหารอาวุโส
“เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของระบบนิเวศที่ขายหุ้นให้พนักงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาพนักงานไว้กับองค์กร ดังนั้น การขายหุ้นให้พนักงานของสตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีขนาดเล็กกว่าตลาดแรงงานที่อิ่มตัวแล้ว อย่าง สหรัฐและจีน” เหวียน กล่าว