เส้นทางวิบากอภิมหาเศรษฐีคริปโท สูญเงิน 1.1 แสนล้านดอลลาร์
ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากของอภิมหาเศรษฐีคริปโทเคอร์เรนซี เพราะต้องเจอทั้งข้อกล่าวหาฉ้อโกง, รัฐบาลฟ้องร้อง โดนสอบสวน, ทะเลาะกันเอง และมูลค่าสินทรัพย์ดิ่งหนัก ทั้งหมดนี้ผสมผสานกันสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมที่เปราะบางนี้
ดัชนีอภิมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2566 ของฟอร์บส รายงานว่า ปีที่ผ่านมาอภิมหาเศรษฐีผู้สนับสนุนคริปโทเสียหายรวมกัน 1.1 แสนล้านดอลลาร์
ย้อนกลับไปในปี 2565 ฟอร์บสระบุรายชื่ออภิมหาเศรษฐีคริปโท 19 คน มากสุดเป็นประวัติการณ์ ความมั่งคั่งรวมกัน 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ตอนนี้นับถึงวันที่ 10 มี.ค. ที่ฟอร์บสจัดอันดับเศรษฐีโลก พบว่า บางคนมั่งคั่งไม่ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 10 คนไม่ได้เป็นเศรษฐีพันล้านอีกต่อไป
คนที่ตกแรงที่สุดคือแซม แบงก์แมน-ฟรีด เมื่อ 12 เดือนก่อน แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโท “เอฟทีเอ็กซ์” ของเจ้าพ่อคริปโทรายนี้ ระดมทุนได้ 400 ล้านดอลลาร์มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้แบงก์แมน-ฟรีด มั่งคั่งสุทธิ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ กลายเป็นหนึ่งใน 50 บุคคลร่ำรวยที่สุดของโลก ตามการประเมินของฟอร์บส
นับจากนั้นเอฟทีเอ็กซ์ยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายตามมาตรา 11แบงก์แมน-ฟรีดแทบไม่เหลืออะไร เขาถูกตั้งข้อหาหลายกระทงทั้งฉ้อโกงและใช้เงินโดยมิชอบ ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
คาโรไลน์ เอลลิสัน อดีตเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และแกรี หวัง อดีตเพื่อนอภิมหาเศรษฐีเปลี่ยนใจหันมาเป็นพยานให้รัฐ คดีของแบงก์แมน-ฟรีดจะเริ่มต้นในเดือน ต.ค. ซึ่งเขาอาจเจอโทษจำคุกตลอดชีวิต
ในภาพรวม ช่วง 12 เดือนจนถึง มี.ค.2566 มูลค่าตลาดของคริปโทเคอร์เรนซีหายไปราว 7 แสนล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ไม่เพียงเท่านั้น มูลค่าสตาร์ทอัพคริปโทเอกชนร่วงลงด้วยเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ย และนักลงทุนดึงเงินออกจากภาคเทคโนโลยี ความเสียหายในตลาดคริปโทเริ่มต้นขึ้นเมื่อฤดูร้อนที่แล้วจากการล้มของเฮดจ์ฟันด์ “ทรีแอร์โรว์สแคปิตอล” สั่งสมมาถึงการล้มของเอฟทีเอกซ์ในเดือน พ.ย. จุดชนวนให้คณะกรรมการกำกับดูแลสหรัฐต้องเล่นงานยกใหญ่ นำทัพโดยแกรี เกนสเลอร์ คณะกรรมาธิการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และเหล่าอัยการ สร้างความขวัญผวาให้กับนักลงทุน เหล่าอภิมหาเศรษฐีคริปโทไม่มีใครไม่เสียหาย
จ้าว ฉางเผิง
ผู้ก่อตั้งและซีอีโอไบแนนซ์ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโท ยังคงร่ำรวยที่สุดในวงการ แม้ตอนนี้ฟอร์บสระบุความมั่งคั่งของเขาที่ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน
เดือนที่แล้ว คณะกรรมการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฟ้องร้องจ้าวและไบแนนซ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหรัฐ ซึ่งทั้งจ้าวและไบแนนซ์ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหา
ขณะเดียวกันอัยการและกระทรวงยุติธรรมกำลังประสานกับกรมสรรพากร พิจารณาดำเนินคดีอาญากับจ้าวและไบแนนซ์ในข้อหาฟอกเงินและเลี่ยงภาษี
นอกจากนี้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ยังดำเนินการสอบสวนไบแนนซ์ของตนเอง ทั้งยังเตรียมการลงโทษบริษัทคริปโท Paxos สำหรับบทบาทในการออกสเตเบิลคอยน์ BUSD ของไบแนนซ์ แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนขนาดกลางที่ผู้ค้าใช้กันบนไบแนนซ์
ทั้งนี้ จ้าวและไบแนนซ์ไม่เคยถูกกระทรวงยุติธรรมหรือเอสอีซีตั้งข้อหา และไบแนนซ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามที่เป็นข่าว
ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งคอยน์เบส แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทสหรัฐ มั่งคั่ง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 6.6 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน ผลจากราคาหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของเขาร่วง
ในเดือน ม.ค. คอยน์เบสจ่ายค่าปรับ 50 ล้านดอลลาร์ให้รัฐนิวยอร์กเพื่อยอมความตามข้อกล่าวหาที่ว่า คอยน์เบสไม่ได้ป้องกันการฟอกเงินบนแพลตฟอร์มได้มากพอ
เดือนก่อนคอยน์เบสเผยว่า เอสอีซีกำลังเตรียมการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัท แต่คอยน์เบสยืนยัน มั่นใจว่าสินทรัพย์และบริการของตนถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการปราบปรามของทางการ มีรายงานว่า บริษัทสหรัฐรายนี้กำลังเล็งเปิดสำนักงานค้าขายในต่างประเทศ
คาเมรอนและไทเลอร์ วิงเคิลวอสส์
คู่แฝดพันล้านแห่งวงการคริปโท มั่งคั่งคนละ 1.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากคนละ 4 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน เนื่องจากปัญหาสารพันบนแพลตฟอร์ม Gemini ของพวกเขา
ก.ค.ปีก่อน คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐ ฟ้อง Gemini ที่ออกแถลงการณ์เท็จหรือชวนให้เข้าใจผิด ตอนที่ยื่นขออนุมัติผลิตภัณฑ์บิตคอยน์ซื้อขายล่วงหน้า (คาเมรอน วิงเคิลวอสส์ เมินข้อกล่าวหาดังกล่าว มองเป็นเรื่อง “ไร้สาระ”) ถึงเดือน ม.ค.Gemini Earn ล่ม ปล่อยให้นักลงทุน 340,000 ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยเพราะเงินทุน 900 ล้านดอลลาร์ถูกอายัด
คู่แฝดตอบโต้ข้อกล่าวหาด้วยการกล่าวโทษแบร์รี ซิลเบิร์ต เศรษฐีคริปโทอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งดิจิทัลเคอร์เรนซีกรุ๊ป (ดีซีจี) ว่า ซิลเบิร์ตและพนักงานดีซีจีตกแต่งบัญชี “สมคบกันทำแถลงการณ์และให้ข้อมูลเท็จ”