‘ไต้หวัน’เดินหน้าปราบกัญชา ไฟเขียวใช้เฉพาะการแพทย์
‘ไต้หวัน’เดินหน้าปราบกัญชา ไฟเขียวใช้เฉพาะการแพทย์ รัฐบาลไต้หวันคัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมายอย่างแข็งขัน และจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้การใช้ยาเสพติดชนิดนี้่แพร่หลาย
ขณะที่ไต้หวันวางบทบาทตัวเองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดของเอเชียในด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิของ LGBTQ และโทษประหาร แต่ประเทศนี้ยังมีความอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับกัญชา แม้หลายส่วนของภูมิภาคเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมกัญชาอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้วก็ตาม แต่กัญชายังคงถูกจัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ของประเทศนี้ เช่นเดียวกับโคเคน แอมเฟตามีนและสารโอปิออยส์
ภายใต้กฎหมายป้องกันอันตรายจากยาเสพติดของไต้หวัน ระบุว่า ผู้ที่มีความผิดจากการใช้กัญชา จะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 3 ปีส่วนผู้ที่ครอบครองเพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุกอย่างน้อย 5 ปีและถูกปรับสูงสุด 5 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งประมาณ 4.43 ล้านบาท
สำนักข่าวอัลจาซีราห์สัมภาษณ์ “จอยซ์ อู๋” ชาวไต้หวันที่จัดว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้กัญชา บอกว่า เคยลองสูบกัญชา 2-3 ครั้งในไต้หวันประเทศบ้านเกิดของเธอ แต่เธอไม่ชอบผลกระทบของกัญชา และวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาแบบผิดกฎหมายในไต้หวัน ทำให้ไม่สบายใจที่จะสูบกัญชา แต่ช่วงที่เธออาศัยอยู่ในสหรัฐเมื่อปี 2558 เธอกลับรู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะลองสูบกัญชา และได้สัมผัสกับอารมณ์ผ่อนคลายหลังสูบกัญชา
ในปี 2563 ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก อู๋ พบว่า กัญชาเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยผ่อนคลายความกังวล เธออยากแบ่งปันข้อดีเหล่านี้ให้กับเพื่อน ๆ และครอบครัวของเธอในไต้หวันด้วย
เดือน มิ.ย. ปีเดียวกันนั้น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ออกคำแนะนำว่า สารแคนนาบินอยด์ (ซีบีดี) ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชา เป็นสารถูกกฎหมายในไต้หวัน เพื่อใช้สำหรับการแพทย์และใช้ได้เฉพาะบุคคล แต่ต้องมีความจุของสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (ทีเอชซี) ไม่เกิน 0.001% ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชาเช่นเดียวกัน แต่มีฤทธิ์มึนเมา
ทั้งนี้ สารซีบีดีจัดเป็นยารักษาโรคในไต้หวันแล้ว หมายความว่า ผู้คนสามารถครอบครองสารตัวนี้ได้หากมีใบสั่งแพทย์ แต่เนื่องจากไต้หวันไม่มีบริษัทเภสัชกรรมในประเทศที่จำหน่ายซีบีดี ผู้ใช้จึงต้องซื้อจากต่างประเทศ หรือทำเรื่องขอนำเข้าผลิตภัณฑ์ซีบีดีจากประเทศอื่นแทน
ภายใต้ความยุ่งยากที่กล่าวมา อู๋ มองเห็นโอกาสในการเริ่มธุรกิจซีบีดีขนาดเล็ก ชื่อว่า วีเฮมป์ปี (WeHemppy) จากบ้านของเธอในนิวยอร์ก เพื่อรองรับลูกค้าชาวไต้หวัน เธอใช้เวลาหลายเดือนในการหาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ซีบีดีที่ทดสอบจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้ามีปริมาณทีเอชซีไม่เกินขีดจำกัดที่ไต้หวันกำหนด ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ในสหรัฐหลายเท่า
ธุรกิจของอู๋ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมขนาดเล็กแต่กำลังเติบโตเพื่อรองรับความต้องการซีบีดีของชาวไต้หวันที่เพิ่มขึ้น ขยายไปยังหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษ สหรัฐ ไทยและญี่ปุ่น
แต่หลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันแสดงจุดยืนต่อต้านยาเสพติดมากขึ้นเป็นสองเท่า โดยในปี 2564 ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ไต้หวันต้องประกาศสงครามกับกัญชา
ในเดือน มี.ค. เจ้าหน้าที่รัฐฯ ดำเนินการทลายกัญชาครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองเถาหยวน โดยยึดกัญชาได้ 4,000 ต้น มีมูลค่าในตลาดสูงถึง 1.26 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังมีชาวไต้หวันบางคนออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยจัดการชุมนุมลดโทษกัญชารายปี ในกรุงไทเป เมื่อวันเสาร์ (15 เม.ย.) มีผู้ร่วมสนับสนุนหลายพันคน ถือเป็นหนึ่งในการชุมนุมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ขณะที่มีผู้จำหน่ายกัญชาบางคน โฆษณาผลิตภัณฑ์ซีดีบีว่า สามารถซื้อได้ผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ตั้งอยู่ในสหรัฐและไทยได้
ด้านกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน ประกาศว่า รัฐบาลไต้หวันคัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมายอย่างแข็งขัน และจะทำทุกอย่างเพื่อปราบปรามการใช้ยาเสพติดชนิดนี้ เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันต้องการรักษาจุดยืนร่วมกับสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ที่ระบุว่า การใช้กัญชาก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ
นอกจากนี้ ทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยมต่อยาเสพติดของไต้หวัน ยังส่งผลไปถึงการเรียนการสอน โดยเด็กๆในไต้หวันจะถูกสอนในโรงเรียนว่า กัญชาเป็นสารเสพติดที่จะนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสพยาเสพติดที่รุนแรงขึ้นได้ง่าย และสามารถนำไปสู่การก่ออาชญากรรมรุนแรง
“หลาย หยานเหอ” แพทย์และผู้สนับสนุนกัญชาที่อาศัยอยู่ในเมืองเกาสง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราห์ว่า “ความกลัวกัญชามาจากการขาดความรู้เกี่ยวกับสารในกัญชา และกำแพงที่ขวางกั้นผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับอนุมัติทางกฎหมายอย่างซีบีดี มีแต่สร้างมลทินให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น"
“ซู ลี” ทนายความชาวไทเปที่ทำคดีเกี่ยวกับกัญชาและผู้สนับสนุนให้กัญชาถูกกฎหมาย รวมถึงแพทย์หลาย แนะนำว่า ชาวไต้หวันที่ต้องการซื้อซีบีดี ต้องมีเอกสารใบสั่งยาจากแพทย์พร้อมอนุมัติการนำเข้าสินค้าก่อนพยายามนำเข้า เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบได้
อู๋ กล่าวว่า เธอแนะนำให้ผู้คนขอใบสั่งจากแพทย์ตลอด แต่ทราบดีว่าวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะเป็นการยากที่จะให้แพทย์ไต้หวันเข้าใจซีบีดีในขณะนี้และว่า “มีแพทย์ไต้หวัน 99% ที่ไม่รู้ว่าสารซีบีดีคืออะไร” ทำให้ลูกค้าของอู๋ 90% ถูกปฏิเสธไม่ให้นำเข้าสารดังกล่าว หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์
ทนายความลี ยกตัวอย่างหนึ่งในลูกความของเธอ ที่พยายามนำเข้าผลิตภัณฑ์ซีบีดีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งอ้างว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากสารทีเอชซี แต่สินค้าถูกศุลกากรยึดและลูกความต้องจำคุก 10 ปี ในข้อหาค้ายาเสพติด
ลี บอกว่า ไม่มีคดีเกี่ยวกับกัญชาคดีไหนเลยที่ชนะเมื่อขึ้นศาล เพราะฉะนั้นคำตัดสินอย่างดีที่สุดที่เป็นไปได้ คือให้ยอมรับสารภาพแล้วจะได้ลดโทษ