สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ดันงบฯทหารโลกพุ่ง 2.24 ลล.ดอลล์
สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ดันงบฯทหารโลกพุ่ง 2.24 ลล.ดอลล์ ขณะที่นักวิเคราะห์เห็นว่า การใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เราอาศัยอยู่ในโลกที่ไม่ปลอดภัย
สำนักข่าวอัลจาซีราห์ รายงานว่าการใช้จ่ายทางหารของโลกแตะระดับ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์ สูงเป็นประวัติกรณ์ในปี 2565 เนื่องจากการทำสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายทางทหารพุ่งขึ้นทั่วทวีปยุโรป
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) รายงานเมื่อวันจันทร์ (24 เม.ย.) ว่า การใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว โดยในยุโรปมีการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 13% สูงสุดในรอบอย่างน้อย 30 ปี
SIPRI ระบุว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในยุโรปส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับรัสเซียและยูเครน ส่วนประเทศอื่น ๆ เพิ่มการใช้จ่ายทางทหารเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซีย
“แนน เทียน” นักวิจัยอาวุโสด้านการใช้จ่ายทางทหารและโครงการผลิตอาวุธของ SIPRI เผยว่า “การใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เราอาศัยอยู่ในโลกที่ไม่ปลอดภัย หลายรัฐคอยสร้างเสริมความแข็งแกร่งทางทหาร เพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัยน้อยลง และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอนาคต”
รายงานของ SIPRI ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย หรือเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ส่งผลให้การใช้จ่ายทางทหารของฟินแลนด์เพิ่มขึ้น 36% และลิทัวเนียเพิ่มขึ้น 27%
ในเดือน เม.ย. ปี 2565 ฟินแลนด์ประเทศที่มีชายแดนติดกับรัสเซียกินความยาวถึง 1,340 กิโลเมตร กลายเป็นสมาชิกลำดับที่ 31 ของ
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขณะที่สวีเดน ประเทศที่หลีกเลี่ยงเป็นพันธมิตรทางทหารมานานกว่า 200 ปี มีความต้องการเข้าร่วมกับนาโตด้วยเช่นกัน
“ลอเรนโซ สการ์ซซาโต” นักวิจัยด้านการใช้จ่ายทางทหารและโครงการผลิตอาวุธของ SIPRI กล่าวว่า “ขณะที่การรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. ปี2565 ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่ายทางทหารในปี 2565 แต่ความกังวลเกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียตั้งแต่ปี 2557 เกิดขึ้นมายาวนาน อดีตรัฐทางตะวันออกหลายแห่ง ใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 2 เท่า ตั้งแต่ปี 2557 ”
รัฐบาลมอสโกรุกรานและเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียร์ของยูเครนในปี 2557 และสนับสนุนกบฎแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครน ก่อนเริ่มการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. ปี 2565
ข้อมูลจาก SIPRI ระบุด้วยว่า การใช้จ่ายทางทหารในยูเครนพุ่งสูงขึ้นมากกว่าเดิมถึง 6 เท่า สู่ระดับ 44,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 นับเป็นการใช้จ่ายทางทหารภายใน 1 ปีที่สูงที่สุดของยูเครน
เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนจีดีพี พบว่า การใช้จ่ายทางทหารเมื่อปีที่แล้ว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปี 2564 คิดเป็น 3.2% ของจีดีพี
การใช้จ่ายทางทหารของรัสเซียเพิ่มมากขึ้นประมาณ 9.2% ในปี 2565 สู่ระดับ 86,4000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 4.1% ของจีดีพีรัสเซีย เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2564
แนน เทียน กล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดในโลก โดยในปี 2565 ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.7% คิดเป็น 39% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากระดับงบประมาณทางทหารที่มอบให้กับยูเครนมากเป็นวัติการณ์ ซึ่งงบประมาณที่สหรัฐช่วยเหลือยูเครนในปี 2565 มีมูลค่าทั้งสิน 19,900 ล้านดอลลาร์
ส่วนจีน ยังคงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก มีการใช้จ่ายประมาณ 292,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน มากกว่าการใช้จ่ายในปี 2564 ในสัดส่วน 4.2% และการใช้จ่ายทางทหารมากขึ้นติดต่อกันเป็นที่ 28 แล้ว
ขณะที่ญี่ปุ่นใช้จ่ายทางทหาร 46,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.9% ถือเป็นการใช้จ่ายทางทหารสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2503
ทั้งนี้ จีนและญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการใช้จ่ายทางทหารของภูมิิภาคเอเชียและโอเชียเนีย มีมูลค่าทั้งสิ้น 575,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง SIPRI กล่าวว่า การใช้จ่ายทางทหารในภูมิภาคนี้ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2532
ญี่ปุ่นและจีนมีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองจากกรณีพิพาทเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือหมู่เกาะเตียวหยู ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน
นอกจากนี้ รัฐบาลโตเกียวยังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลมอสโกในอาณาเขตภาคเหนือมาอย่างยาวนาน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดฮอกไกโดในญี่ปุ่น และเคยถูกยึดครองโดยสหภาพโซเวียตในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัสเซียเรียกขานพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าวว่า หมู่เกาะคูริล
ขณะที่ความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของไต้หวันก็เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลปักกิ่งอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และรัฐบาลปักกิ่งยังอ้างว่าพื้นที่ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นของจีน ซึ่งอาณาเขตดังกล่าว เป็นเส้นทางการค้าทางทะเล และหลายส่วนมีการอ้างสิทธิ์ครอบครองจากหลายประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนามและมาเลเซีย