‘พิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์’ เปิด 10 ไฮไลต์น่าทึ่งที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน
"มงกุฎ ฉลองพระองค์ พิธีเจิมกษัตริย์" เปิดลิสต์ 10 ไฮไลต์น่าทึ่ง "พิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์" ที่ 3 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน บางเรื่องหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
Key Points:
- สำนักพระราชวังบักกิงแฮม เปิดเผยว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. จะเป็นพิธีที่วิจิตรงดงามที่สุดในยุคหนึ่งของอังกฤษ
- หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญ คือ กษัตริย์ต้องนั่งบน “เก้าอี้ราชาภิเษก (Coronation Chair)” โดยมี “ศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny)” เป็นส่วนหนึ่งของเก้าอี้
- ส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพิธีก็คือ การถวาย “พิธีเจิมกษัตริย์” ด้วย “น้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์” โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการปรับสูตร ไร้ส่วนผสมของน้ำมันจากสัตว์ ต่างจากอดีตที่มีส่วนผสมของน้ำมันจากวาฬและชะมด
สำนักพระราชวังบักกิงแฮม เปิดเผยว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. จะเป็นพิธีที่วิจิตรงดงามที่สุดในยุคหนึ่งของอังกฤษ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถูกจัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับ 1,000 ปี
กรุงเทพธุรกิจ รวบรวม 10 ไฮไลต์น่าสนใจเกี่ยวกับ “พิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์ที่ 3” มาให้ทราบกันดังนี้
1. พิธีราชาภิเษก คืออะไร?
คำว่า “ราชาภิเษก (coronation)” มาจากภาษาละตินคำว่า “โคโรนา (corona) ” ซึ่งแปลว่า “มงกุฎ” แต่เป็นพิธีทางราชสำนักที่มีมากกว่าแค่การสวมมงกุฎบนศีรษะของกษัตริย์ กล่าวคือเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกันของสถาบันกษัตริย์ คริสตจักร และรัฐ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งพระมหากษัตริย์จะกล่าวคำปฏิญาณต่อทั้งพระเจ้าและต่อประเทศชาติ
ด้านสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เปิดเผยว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์ครั้งนี้ จะสะท้อนถึงบทบาทของกษัตริย์ในปัจจุบันและมองไปยังอนาคต ในขณะที่มีรากฐานมาจากประเพณีและขบวนแห่ที่มีมาอย่างยาวนาน
2. พิธีราชาภิเษกครั้งนี้ จะมีส่วนร่วมจากทุกศาสนา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 จะเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญผู้นำศาสนาอื่นๆ ที่นอกจากศาสนาคริสต์ เข้ามามีส่วนร่วมในพิธีด้วย ได้แก่ ผู้นำศาสนาพุทธ ฮินดู ยิว มุสลิม และซิกข์ โดยจะมีส่วนร่วมในแง่มุมต่างๆ ของพิธีราชาภิเษก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เปิดกำหนดการ ‘ราชาภิเษก’ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
- ทำไม ‘พระราชพิธีราชาภิเษก’ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้กว่าพันล้านปอนด์
- เผยโฉมฉลองพระองค์คลุมราชาภิเษกคิงชาลส์ องค์เดียวกับอัยกาจอร์จที่ 6
- เปิดรายชื่อ ‘ราชวงศ์ต่างประเทศ’ ร่วมราชาภิเษกคิงชาลส์
สำนักงานอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ได้เปิดเผยรายละเอียดของพิธีการบางส่วนว่า แม้พิธีหลักจะเป็นไปตามประเพณีโบราณของชาวคริสต์ แต่เพื่อสะท้อนถึงสังคมร่วมสมัย พิธีครั้งนี้จึงมี “บาทหลวงหญิง” เข้าร่วมพิธีเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับเพลงสวดและคำอธิษฐานที่ร้องเป็นภาษาเวลส์ ภาษาเกลิกแบบสกอตแลนด์ และภาษาเกลิคแบบไอริช รวมถึงภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ที่มีอายุ 1,000 ปียังคงมีความเกี่ยวข้องในประเทศที่มีความหลากหลาย มากกว่าตอนที่มารดาของเขาขึ้นครองราชย์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ในขณะที่กษัตริย์ชาลส์ก็ทรงเป็นผู้ว่าการสูงสุดของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ด้วย
3. ศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny) สิ่งสำคัญในพิธี
หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ คือ กษัตริย์ต้องนั่งบน “เก้าอี้ราชาภิเษก (Coronation Chair)” โดยมี “ศิลาแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny)” เป็นส่วนหนึ่งของเก้าอี้ดังกล่าว ซึ่งกษัตริย์จะต้องนั่งก่อนสวมมงกุฎตามโบราณราชประเพณี
เอเอฟพี (28 เม.ย.) รายงานว่า ศิลาแห่งชะตาอันศักดิ์สิทธิ์ของสกอตแลนด์ ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากปราสาทเอดินบะระ และนำไปยังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนแล้ว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ศิลาดังกล่าวเป็นหินทรายสีแดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า น้ำหนัก 152 กิโลกรัม ซึ่งใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์มาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี
ต่อมาในภายหลังมีการนำมาใช้ในพิธีของพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ, บริเตนใหญ่ และสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน โดยครั้งล่าสุดถูกใช้งานในปี พ.ศ. 2496 ในพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ด้านสถานที่จัดพระราชพิธีฯ อย่าง “มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์” ก็เป็นมหาวิหารโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่นี่ถูกใช้จัดพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์และราชินีอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1066
4. รู้จักพิธีเจิมกษัตริย์ด้วย “น้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์”
พระราชพิธีราชาภิเษกครั้งสนี้จัดขึ้นตามธีม “Called to Serve” โดยจะเริ่มด้วยสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของศาสนจักร เข้ามาถวายบังคมกษัตริย์ เพื่อเริ่มพิธี อีกทั้งยังมีองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์มากมาย ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงโบราณราชประเพณีที่ส่งผ่านอำนาจจากกษัตริย์องค์เก่าไปยังกษัตริย์องค์ใหม่ โดยเฉพาะส่วนศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพิธี นั่นคือ การถวาย “พิธีเจิม” แด่กษัตริย์ด้วยน้ำมัน
พิธีนี้จะทำโดยการอัญเชิญพระองค์ออกจากกลุ่มคนอื่นๆ ในพิธี มาที่ด้านหลังฉากกั้น แล้วจึงทำพิธีเจิมและปลุกเสกเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ โดยการถวายพิธีเจิมนี้จะไม่ปรากฏให้เห็นทางโทรทัศน์หรือคนส่วนใหญ่ในอาราม ยกเว้นสมาชิกอาวุโสสองสามคนของนักบวช
อีกทั้ง “น้ำมันเจิมศักดิ์สิทธิ์” ที่นำมาใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่มีการปรับสูตร ไร้ส่วนผสมของน้ำมันที่มาจากสัตว์ ต่างจากในอดีตที่จะมีส่วนผสมของน้ำมันจากวาฬและชะมด หลังจากพิธีเจิมเสร็จสิ้นลง ฉากกั้นจะถูกเปิดออกและกษัตริย์จะถูกเปิดเผยต่อหน้าทุกคนในฐานะ “ผู้มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าและรับใช้ประชาชน”
5. เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คืออะไร? และมีอะไรบ้าง?
ในลำดับต่อมา “จัสติน เวลบี” อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จะถวาย “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งหมายถึง เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์แต่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษกกษัตริย์ชาลส์ ได้แก่
- พระลูกโลกทองคำประดับอัญมณี (Golden Orb) ปิดยอดบนสุดด้วยกางเขน สร้างขึ้นครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา และถูกนำมาใช้ในพิธีนี้อีกครั้ง
- พระคทากางเขน (Sceptre with Cross) สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจปกครองของพระมหากษัตริย์ ภายใต้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ที่ส่วนยอดประดับเพชรหนัก 530 กะรัต ซึ่งถือเป็นเพชรไม่มีสีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
- คทาแห่งพิราบ (Sceptre with Dove) ทำจากด้ามทองคำ 3 ส่วน เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา
- พระแสงดาบ (Sword of State) สัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจ และหน้าที่ของพระประมุขในการปกป้องดูแลศาสนาและประเทศ
- พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
6. ไฮไลต์สำคัญที่สุด “พิธีสวมมงกุฎ” ในพระราชพิธี
ลำดับถัดมาเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นั่นคือ พิธีสวมมงกุฎบนพระเศียรพระเจ้าชาลส์ที่ 3 โดยมงกุฎที่ถูกนำมาใช้ในพิธีครั้งนี้คือ “พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” ทำจากทองคำแท้ประดับอัญมณี หนัก 2.2 กิโลกรัม เป็นพระมหามงกุฎที่เคยใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์อังกฤษทุกพระองค์ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661
หลังจากสวมมงกุฎให้กษัตริย์องค์ใหม่แล้ว ผู้นำพิธีและผู้ร่วมพิธีจะกล่าวคำว่า “God Save the King” ให้ดังกึกก้องไปทั่วอาราม จากนั้น “คามิลลา” จะได้รับพิธีเจิมเพื่อขึ้นเป็นพระราชินีพระองค์ใหม่ด้วย โดยจะได้รับการเจิมในรูปแบบที่คล้ายกับควีนเอลิซาเบธในปี 1937 อย่างไรก็ตาม การเจิมของคามิลลาจะไม่ถูกซ่อนอยู่หลังฉากกั้น
จากนั้นเจ้าชาย เจ้าหญิง พระบรมวงศานุวงศ์ บรรดานักบวช และผู้ร่วมงานในพิธีจะเดินไปหากษัตริย์เพื่อแสดงความเคารพด้วยการถวายบังคมอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า หลังเสร็จสิ้นพิธีการทางศาสนา กษัตรย์ชาลส์จะเปลี่ยนมาสวมมงกุฎอีกมงกุฎหนึ่ง ที่ชื่อว่า “พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท” เป็นมงกุฎที่กษัตริย์ทรงสวมเมื่อเสด็จฯ ออกจากมหาวิหารเวสต์บินสเตอร์หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ
7. กษัตริย์ชาลส์จะทรงฉลองพระองค์อะไร?
มีรายงานจากสำนักข่าว CNN ระบุว่า จะมีการนำฉลองพระองค์หลายชุดที่สวมใส่โดยกษัตริย์องค์ก่อนๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีต มาใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ด้วยเพื่อสื่อถึงความงดงามของโบราณราชประเพณีและความยั่งยืน โดยเบื้องต้นพบว่าฉลองพระองค์ที่จะถูกนำมาใช้ในพิธี ได้แก่
- ฉลองพระองค์ที่เคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของ King George IV ในปี 1821
- ฉลองพระองค์ที่เคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของ King George V ในปี 1911
- ฉลองพระองค์ที่เคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของ King George VI ในปี 1937
- ฉลองพระองค์ที่เคยใช้ในพิธีราชาภิเษกของ Queen Elizabeth II ในปี 1953
รวมไปถึง ฉลองพระองค์สีขาวแบบไม่มีแขน (Colobium Sindonis), ฉลองพระองค์ชุดคลุมยาวทำจากผ้าไหมสีทองประดับลูกไม้ (Supertunica), เสื้อคลุมจักรพรรดิ มีอายุกว่า 200 ปี และมีน้ำหนักกว่า 4 กก. (Imperial Mantle), เข็มขัดดาบราชาภิเษก และถุงมือราชาภิเษก
8. “ราชรถทองคำ” และขบวนเสด็จฯ กลับพระราชวังหลังเสร็จสิ้นพิธี
เบื้องต้นมีรายงานว่าหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ แล้ว จะมีการจัดริ้วขบวนเสด็จฯ ออกจากมหาวิหารเคลื่อนกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮมตามเส้นทางเดิม โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว โดยราชรถที่ประทับจะใช้ราชรถทองคำอายุเก่าแก่ 260 ปี ซึ่งเป็นราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี 1831
ส่วนเส้นทางที่ขบวนเสด็จฯ จะเคลื่อนผ่านนั้น มีระยะทางประมาณ 2.29 กิโลเมตร ซึ่งสั้นกว่าเส้นทางของขบวนเสด็จฯ ในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เดินทางกลับไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในปี 2496 โดยครั้งนั้นมีระยะทางอยู่ที่ 6.5 กิโลเมตร (ต่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร) ส่วนรายละเอียดเส้นทางขบวนเสด็จฯ ของกษัตริย์ชาลส์ คือ ออกจากมหามหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนไวต์ฮอลล์ จากนั้นเลี้ยวซ้ายผ่านซุ้มประตูแอดไมรัลที จากนั้นตรงไปเรื่อยๆ บนถนนเดอะมอลล์ และมุ่งหน้าเ้าสู่พระราชวังบักกิงแฮม
9. ส่องความต่าง พิธีราชาภิเษกคิงชาลส์ VS พิธีราชาภิเษกควีนเอลิซาเบธ
นอกจากเรื่องระยะทางของขบวนเสด็จฯ ที่แตกต่างกันอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีข้อแตกต่างในเรื่องของแขกที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ โดยสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า หากย้อนกลับไปในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 นั้น จะพบว่า รายชื่อแขกมีจำนวนมากกว่า 8,000 คน จนต้องมีการสร้างโครงสร้างชั่วคราวภายในอารามเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับเชิญทั้งหมด
แต่ในพระราชพิธีของกษัตริย์ชาลส์ พบว่ามีการเชิญแขกในจำนวนจำกัด โดยจะมีผู้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองประมาณ 2,200 คน ณ Westminster Abbey แม้ว่าสำนักพระราชวังจะไม่ได้เปิดเผยรายชื่อแขกโดยละเอียด แต่ได้ยืนยันว่าในพิธีครั้งนี้ แขกในงานจะประกอบด้วยสมาชิกของราชวงศ์ เช่นเดียวกับตัวแทนระหว่างประเทศจาก 203 ประเทศ รวมถึงประมุขแห่งรัฐประมาณ 100 คน พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนและองค์กรการกุศล
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพิธีคริสเตียนโบราณ และเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมอื่นๆ เล็กน้อย เช่น การปรับเปลี่ยนธีมงานภายใต้หัวข้อ “เรียกให้รับใช้”, การที่กษัตริย์สวดอ้อนวอนในช่วงพิธีทางศาสนา, การมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาจากศาสนาอื่น, การมีส่วนร่วมของนักบวชหญิง, การรวมภาษาอื่นๆ ที่พูดในเกาะอังกฤษมาใช้ในพิธี, การแสดงความเคารพของผู้คนต่อกษัตริย์ตามประเพณีโบราณ ถูกแทนที่ด้วย “การแสดงความเคารพต่อผู้คน”, สาธารณชนได้รับเชิญให้เข้าร่วม “a chorus of millions of voices” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นต้น
10. สามารถติดตามดูพระราชพิธีฯ ครั้งนี้อย่างไรได้บ้าง?
ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามชมถ่ายทอดสดพระราชพิธีครั้งนี้ได้ ผ่านทางรายการโทรทัศน์พิเศษ CNN (หรือผ่านรายการพิเศษของสถานโทรทัศน์ของแต่ละประเทศ หรือผ่านทางช่องทางออนไลน์) โดยพิธีจะเริ่มในเวลา 11.00 น. (6.00 น. ET) ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2023
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า พระราชพิธีครั้งนี้น่าจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณสองชั่วโมงเศษๆ ส่วนรายละเอียดในพิธีราชาภิเษกยังคงทำตามโบราณราชพระเพณีที่มีมายาวนานกว่า 1,000 ปี
------------------------------------
อ้างอิง : Royal.uk, Washingtonpost, CNN, BBC