สภาคองเกรสไฟเขียว เก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์จากไทย วัดใจ 'ไบเดน' ใช้สิทธิ Veto
วุฒิสภาสหรัฐจัดการประชุมวานนี้ โดยมีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 56-41 เห็นชอบต่อร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา
วุฒิสภาสหรัฐจัดการประชุมเมื่อวันพุธ (3 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 56-41 เห็นชอบต่อร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา และถือเป็นการคว่ำการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐด้วยคะแนนเสียง 221-202
อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวระบุว่า ปธน.ไบเดน จะใช้สิทธิวีโต้ (Veto) ร่างกฎหมายดังกล่าว
หากปธน.ไบเดนใช้สิทธิวีโต้ ก็จะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับสู่การพิจารณาของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และทั้ง 2 สภาจำเป็นต้องลงมติรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 มิฉะนั้นจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวในเดือนมิ.ย.2565 โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐสามารถเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงว่า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนได้ใช้ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าว ได้แก่ BYD Co., Canadian Solar International Ltd., Trina Solar Science & Technology Ltd. และ Vina Solar Technology Co. ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัททั้ง 4 คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่มีการนำเข้าในสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ Auxin Solar ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่
อย่างไรก็ดี สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) เตือนว่าการสอบสวนดังกล่าวจะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงแล้วอันเนื่องจากต้นทุนในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐ