เปิด‘ข้อเสนอ-ความคาดหวัง’ทูตต่างชาติต่อเลือกตั้งไทยปี66
การเลือกตั้งไทยจะเริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์(14พ.ค.)นี้ ท่ามกลางความสนใจของประชาคมโลก ที่อยากเห็นและคาดหวังการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นมิตรกับนักลงทุนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศไทย ติดตามได้จากรายงาน
“ยูน โอสตร็อม เกรินดาห์ล" เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า "สวีเดนยินดีที่ไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปและหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมการเลือกตั้งเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยเป็นอะไรที่น่าสนใจที่จะได้สังเกตการณ์การหาเสียงเลือกตั้งในปีนี้ที่มีสีสันมากเลยครับ"
ส่วนเรื่องความคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ เกรินดาห์ล หวังว่าสวีเดนจะร่วมมือต่อไปที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศในทุกระดับ สวีเดนและไทยต่างมีหลายอย่างที่จะต้องเรียนรู้จากกันและกัน และสวีเดนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของไทยในหลากหลายประเด็นที่สนใจร่วมกัน อาทิ ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายความยั่งยืนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและเรื่องการค้า รวมทั้งร่วมกันรับผิดชอบในการปรับปรุงและคุ้มครองสภาพการทำงานของแรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน
ด้าน“ยอน ทัวร์กอร์ด” (H.E. Mr. Jon Thorgaard) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์ก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า เดนมาร์กให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีอาหาร และนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียว รวมทั้งความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป (อียู)
ปัจจุบันไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ในการประชุม ASEAN - EU Commemorative Summit ณ กรุงบรัสเซลส์
เอกอัครราชทูตเดนมาร์กเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศจะช่วยยกระดับความร่วมมือในทุกสาขาให้มีความใกล้ชิดและเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและการเน้นย้ำแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก
ขณะที่ “โจนาธาน คิงส์” เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ตอบคำถามสื่อมวลชน เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ในวันที่ 14 พ.ค. 66ว่า แม้รัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่ได้ส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย จะทำหน้าที่สังเกตการณ์กระบวนการจัดการเลือกตั้งในวันดังกล่าว
คิงส์ เน้นย้ำว่า “ส่วนตัวรู้สึกตะลึงที่ได้เห็นว่าสิทธิของคนไทยที่จะออกเสียงลงคะแนนครั้งนี้ถูกให้ความสำคัญมากเพียงใด ตลอดจนได้เห็นความกระตือรือร้นของคนไทยที่จะไปเข้าคูหาตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เราจึงรอคอยที่จะถึงนี้ ที่จะเห็นคนไทยออกไปทำหน้าที่ตามครรลองประชาธิปไตย สุดท้าย จึงขออวยพรให้คนไทยทุกคนประสบกับสิ่งที่ดีที่สุด”
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า อังกฤษเป็นประเทศประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิพื้นฐานของประชาชนเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งของไทยปี2566 “มาร์ค กูดดิ้ง” เอกอัครราชทูตอังกฤษจะร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งใกล้กับทำเนียบเอกอัครราชทูต เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สถานทูตก็จะร่วมด้วย
ขณะที่เอกอัครราชทูตอังกฤษกล่าวว่า ความร่วมมืออังกฤษต่อรัฐบาลไทยยังคงต่อเนื่อง และสานต่อนโยบายความร่วมมือระหว่างอังกฤษ- ไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุนที่เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมพลังงานสะอาด
ส่วน“ชิต ลี เต๋อ” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัทวีที กรุ๊ป กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยและไต้หวันจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ทั้งสองฝ่ายต่างยังคงมีสำนักงานเพื่อดูแลงานทั่วไปของหน่วยงานทางการทูต เช่น กงสุลบริการด้านวีซ่า, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และการศึกษา เป็นต้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) ของรัฐบาลไต้หวัน “ประเทศไทยจึงกลายเป็นพันธมิตรสำคัญในการแลกเปลี่ยนของไต้หวัน”
"สำหรับการเลือกตั้งของประเทศไทยปี 2566 บรรยากาศดูไม่เคร่งเครียดเหมือนครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน หวังร่วมสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย" เต๋อ กล่าว
ดังนั้น ฝ่ายการเมืองของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ในไต้หวันที่มีการติดต่อด้านธุรกิจกับประเทศไทย ต่างก็คอยจับตาและให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนี้
เต๋อ กล่าวถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลไทยว่า ขอให้จัดการเลือกตั้งอย่างถูกต้องและยุติธรรม ให้ระบบ กระบวนการ และผลการเลือกตั้งเป็นที่น่าเชื่อถือ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การเลือกตั้งต้องไม่เป็นเพียงแค่พิธีการ กลไกของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ฝ่ายปกครองอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ
ในส่วนของพรรคการเมือง ในด้านนโยบาย ผู้สมัครของทุกพรรคต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมั่นใจว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายไม่ควรเป็นเพียงเครื่องมือในการหาเสียง และผู้สมัครไม่ควรหลอกลวงประชาชนด้วยคำสัญญาปลอมๆ ผมเห็นนโยบายต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตและตามท้องถนน เช่น ปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท เงินช่วยเหลือเด็กเล็กและผู้สูงวัยทุกเดือน 1,200 บาทถึง 5,000 บาท นโยบายเหล่านี้ฟังดูน่าสนใจมาก แต่ผู้สมัครบางคนอาจไม่ได้บอกประชาชนถึงวิธีดำเนินการ กระบวนการดำเนินงาน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน ถ้าแหล่งที่มาของเงินทุนไม่ชัดเจน นโยบายเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำได้จริง
“ผมขอให้ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม งบประมาณรวมปี 2566 ของรัฐบาลไทยอยู่ที่ 3.18 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชากรไต้หวันมีเพียงแค่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย แต่งบประมาณรวมปี 2566 ของไต้หวันอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ถ้านักการเมืองไทยเสนอนโยบายมามากมาย แต่กลับไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการ การเลือกตั้งก็จะกลายเป็นเพียงแค่การแข่งขันคุยโม้กันใหญ่โตเท่านั้นเองไม่ใช่หรือ?”เต๋อ กล่าว
ส่วนประชาชน เต๋อมองว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนธรรมดา ไม่ว่าภูมิหลังทางการศึกษาและสังคมของคุณจะเป็นอย่างไร ตราบใดที่คุณอายุถึงและมีสิทธิพลเมือง คุณก็มีสิทธิ์เลือกตั้งครับ ทุกคะแนนเสียงมีค่า ดังนั้น พลเมืองไทยที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบนะครับ ตั้งใจเข้าไปดูนโยบายของผู้สมัครทุกคนอย่างละเอียดก่อนที่จะลงคะแนนเสียง เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณภาพของพลเมืองก็สะท้อนถึงคุณภาพของรัฐบาล ดังนั้น พลเมืองเป็นแบบใด รัฐบาลก็จะเป็นแบบนั้น
ส่วนนโยบายและความร่วมมือที่ไต้หวันจะหยิบพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ของไทยผมคิดว่ารัฐบาลไทยเป็นมิตรกับการลงทุนจากต่างประเทศมาก แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การปรับปรุงระบบราชการและพัฒนาประสิทธิภาพของข้าราชการซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับบริษัทและแรงงาน ที่ควรมีการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขตามกระแส เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายและการบริหารก้าวทันยุคสมัย
เต๋อ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเห็นรัฐบาลใหม่ของไทยที่มี 5 คุณสมบัตินี้คือ
1. ไม่ทุจริต วางแผนและปฏิบัติตามนโยบายอย่างรัดกุม
2. ข้าราชการไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
3. ควรหาทางออกระยะยาว ไม่เพียงแค่เอาใจประชาชนหรือรักษาตามอาการมากกว่ารักษาที่ต้นเหตุ หรือทำแต่เพียงผิวเผิน
4. มุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างโปร่งใส รัฐบาลไทยส่งเสริม OpenGov แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกมาก เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการทำความเข้าใจการดำเนินงานและผลการดำเนินการของรัฐบาล
5. เป็นรัฐบาลที่มีคุณธรรมและกล้ารับผิดชอบทางการเมือง