‘ฝรั่งเศส’ ชู ‘ไทย’ ประตูนวัตกรรมเกษตรแห่งอนาคตของอาเซียน
‘ฝรั่งเศส’ ชู ‘ไทย’ ประตูนวัตกรรมเกษตรแห่งอนาคตของอาเซียน ขณะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส กล่าวว่า พลังด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ไม่มีขอบเขต หวังว่าประเทศไทยและฝรั่งเศสจะสานต่อแรงผลักดันนี้เพื่อบรรลุความเป็นหุ้นส่วนด้านนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่
ฝรั่งเศสและไทยมีเป้าหมายเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2567 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงจัดงานสัปดาห์นวัตกรรมและสตาร์ตอัปฝรั่งเศส - ไทยขึ้นที่ Station F ศูนย์กลางบ่มเพาะสตาร์ตอัปแห่งใหญ่ระดับโลกในกรุงปารีส เพื่อเป็นการรวมตัวผู้แทนรัฐบาล เอกชน นักลงทุนและผู้ประกอบการสองประเทศที่สนใจขยายธุรกิจเกษตร การบิน อวกาศและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
“ออลีวีเย แบ็ชต์” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสและไทยเลือกที่จะให้การส่งเสริม “นวัตกรรมแห่งอนาคต” เป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ของเรา โดยเฉพาะ 4 สาขาได้แก่ อวกาศ สุขภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
'ไทย'เศรษฐกิจอันดับสองในอาเซียน
“เมื่อประเทศไทยกับฝรั่งเศสตัดสินใจจัดงานปีแห่งนวัตกรรมร่วมกันตลอดทั้งปี 2566 โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านนวัตกรรม เพื่อจารึกประวัติศาสตร์ไว้และปูทางสู่ความร่วมมือระยะยาว” แบ็ชต์กล่าวและเสริมว่า สตาร์ตอัปและผู้เล่นหลักในธุรกิจเทคโนโลยีของฝรั่งเศสต้องการเรียนรู้จากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนักพัฒนานวัตกรรมของฝรั่งเศสจะก้าวไปสู่ระดับโลกไม่ได้ ถ้าหากไม่เรียนรู้ระดับภูมิภาค
แบ็ชต์ชี้ว่า ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นลมหายใจของเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง และประเทศไทยก็เป็นประตูสู่การค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียขยายตัวทางศก.มากสุดในโลก
ฟรองซัว คอร์แบง ผู้ก่อตั้งสถาบัน MEDEF International ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียนของฝรั่งเศส กล่าวว่า มองเห็นศักยภาพในความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและไทยอย่างมากมาย
“ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดี และตั้งอยู่ใจกลางเอเชีย ซึ่งส่วนตัวมองว่า เอเชียเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” คอร์แบง กล่าว
‘การทูต’เชื่อมโอกาสธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส
“ธนา เวสโกสิทธิ์” เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสกล่าวว่า ปีนี้ ไม่เพียงได้เรียนรู้จากฝรั่งเศสในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยี แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งที่ไทยพยายามสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมที่เปิดตัวนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมโยงศักยภาพโอกาสทางธุรกิจระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์สองประเทศต่อไปในอนาคต
“พลังด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ไม่มีขอบเขต ผมหวังว่าประเทศไทยและฝรั่งเศสจะสานต่อแรงผลักดันนี้เพื่อบรรลุความเป็นหุ้นส่วนทางนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่” เอกอัครราชทูตไทยกล่าว
แหล่งทุนสนับสนุนหุ้นส่วนนวัตกรรม
ก่อนหน้านี้ “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ร่วมกับ Bpifrance เพื่อดำเนินความร่วมมือด้านนวัตกรรมในหลากหลายมิติ ณ กรุงปารีส ซึ่งความร่วมมือด้านนวัตกรรมดังกล่าว ได้แก่ การสนับสนุนการเงินและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทยและฝรั่งเศสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี
ภาพลักษณ์ไทย ประเทศแห่งนวัตกรรม
NIA ถือเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านนวัตกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบแนวคิด “การทูตนวัตกรรม” หรือ Innovation Diplomacy โดยอาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานต่างประเทศที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมทั่วโลกเพื่อยกระดับความเป็นสากลของระบบนวัตกรรมแห่งชาติของไทย ตลอดจนผลักดันการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม”
สองประเทศพุ่งเป้า 3 ด้าน คือ Government-to-Government (G2G) การสร้างเครือข่ายนานาชาติในกลุ่มองค์กรรัฐและองค์กรนานาชาติ Government-to-Investor (G2I) หรือการเชื่อมโยงกับนักลงทุนที่สนใจการทำธุรกิจนวัตกรรมกับภาคเอกชนไทย และ Government-to-Startup (G2S) ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลให้แก่ภาคธุรกิจสตาร์ทอัพ
“สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่ดำเนินมายาวนานกว่าสามศตวรรษ และโดดเด่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทาง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ปลัดอว. กล่าวย้ำว่า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งสองประเทศได้เปิดตัวศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัป ศูนย์กลางนวัตกรรม และกิจกรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน หวังผลักดันให้สองประเทศก้าวไปสู่นวัตกรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น