กูรูฝรั่งเศสไม่ปลื้ม ‘พายมังสวิรัติราชาภิเษก’ ผิดสูตรต้นตำรับ
กูรูผู้พิถีพิถันในฝรั่งเศสไม่พอใจ“คีช” หรือพายสูตรพิเศษมังสวิรัติเพื่อเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาล์สที่ 3 ระบุ ผิดจากต้นตำรับไม่ควรเรียกคีช
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตามที่เมื่อเดือนก่อน สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเผยตำรับคีชราชาภิเษก ที่ทำขึ้นตามพระราชนิยมของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ผู้ทรงห่วงใยสิ่งแวดล้อม อาหารจานนี้จึงไม่มีเนื้อสัตว์ แต่ใส่ผักโขม ถั่วปากอ้า และทาร์รากอนแทน
ปรากฏว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญในฝรั่งเศส โต้แย้งว่า คีชมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้นคือคีชลอร์เรน ตั้งชื่อตามพื้นที่ต้นกำเนิดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งคีชทำมาจากแป้งพาย ไข่ผสมครีมและลูกจันทน์เทศน์ และเบคอนหนาชิ้นเล็กๆ ไม่มีชีส
เอเวลีน มุลเลอร์-แดร์โวซ์ ประธานสมาคมช่างฝีมือคีชลอร์เรน ไม่ปลื้มเอามากๆ กับคีชสูตรใหม่ของอังกฤษ
“พวกเขาเรียกมันว่าคีช แต่ฉันขอเรียกมันว่าทาร์ตเผ็ดๆ เมื่อคุณพูดว่า คีช มันต้องหมายถึงคีชจากลอร์เรนเท่านั้น”
ข้อมูลจากศูนย์ทรัพยากรข้อความและคำศัพท์แห่งชาติฝรั่งเศส ระบุว่า คีช เป็นภาษาถิ่นลอร์เรน หมายถึง “ทาร์ต” ดังนั้น แม้แต่การเรียกว่า “คีชลอร์เรน” ก็ยังเป็นการใช้คำซ้ำซ้อนในทัศนะของมุลเลอร์-แดร์โวซ์ เธออธิบายด้วยว่า คีชลอร์เรนหรือมารดาแห่งคีชทั้งมวล ถือกำเนิดขึ้นราวปี 1540 ในช่วงที่บ้านเมืองสงบสุขและมั่งคั่งภายใต้การปกครองของดยุกแห่งลอร์เรน หรืออีกชื่อหนึ่งว่าชาลส์เช่นกัน
ส่วนสมาคมช่างฝีมือคีชลอร์เรนก่อตั้งขึ้นในปี 2015 ในวาระครบรอบ 40 ปี “ปาร์ตี้คีช” ในหมู่บ้านดอมบาเซิล-ซูร์-เมอเทอของภูมิภาคลอร์เรน ในอดีตการจัดงานจะมีทั้งขบวนพาเหรดและเลือก “นางงามคีช” แต่ปัจจุบันไม่มีความรื่นเริงแบบนั้นแล้วจึงไม่ค่อยมีใครมาร่วมงานมากนัก