‘บัฟเฟตต์ - มัสก์’ เตือนบริษัทพึ่งชิป เมื่อข่าวกรองเผย จีนยึดไต้หวันในปี 70

‘บัฟเฟตต์ - มัสก์’ เตือนบริษัทพึ่งชิป เมื่อข่าวกรองเผย  จีนยึดไต้หวันในปี 70

สัมพันธ์สหรัฐ - จีนที่ร้าวฉาน และความตึงเครียดสูงในช่องแคบไต้หวัน ทำให้ผู้นำทางธุรกิจอย่างอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอเบิร์กไชร์ แฮธะเวย์ ส่งเสียงเตือนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ท่ามกลางข่าวกรองสหรัฐเผยแผ่นดินใหญ่เตรียมเข้ายึดไทเป ภายในปี 2570

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผลักดันการขยายอิทธิพลจีนไปทั่วโลก รวมถึงพยายามครอบงำไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อการสนทนาในการประชุมผู้นำ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องขัดขวางการรุกรานไทเป 

อีลอน มัสก์ กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า จีนมีนโยบายที่ชัดเจนจะ “รวมชาติกับไต้หวัน” ดังนั้นจึงคิดว่ามีบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับบริษัทใดๆ ในโลก 

เดือนที่แล้ว เทสลาประกาศเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ที่เรียกว่า “เมกกะแพ็ค” แห่งใหม่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้

มัสก์แสดงความเห็นเรื่องนี้ หลังหนึ่งวันที่บริษัทเบิร์กไชร์ แฮธะเวย์ ของบัฟเฟตต์ เปิดเผยว่าได้ยื่นฟ้องกรณีละทิ้งการถือหุ้นบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูเฟคเจอร์ริ่ง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋ ไต้หวัน ซึ่งครั้งหนึ่งมีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และป้อนชิปให้กับบริษัทแอ๊ปเปิ้ล แอมะซอน วอลคอมม์และอื่นๆ 

ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์นี้ บัฟเฟต์ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่เหนือดินแดนไต้หวัน แน่นอนเป็นประเด็นหลักที่เขาจะพิจารณาตัดสินใจขายหุ้นในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา แม้ว่า บริษัทจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่บัฟเฟตต์ต้องประเมินจุดยืนตนเองใหม่ เพราะบางสิ่งอาจจะเกิดขึ้น 

บริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ยังคงถือหุ้นBYD ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน แม้ก่อนหน้านี้เบิร์กไชร์ได้ขายหุ้น ใน BYD  มากกว่าครึ่งที่ถืออยู่เมื่อปีที่แล้ว 

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า นโยบายสหรัฐที่มีต่อไต้หวันก็มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐระบุว่า สี จิ้นผิงกดดันกองทัพจีนเตรียมพร้อมที่จะยึดไต้หวันภายในปี 2570 ซึ่งก่อนหน้านี้ เพนตากอนกล่าวในปี 2564 “จีนกำลังเตรียมการเพื่อรวมไต้หวันเป็นหนึ่งโดยใช้กำลัง”

จีนอ้างว่าไต้หวันซึ่งปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของตน ได้ผลักดันให้เกาะอยู่ภายใต้ร่มธงของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นสถานะที่รัฐบาลไต้หวันในไทเปยืนกรานปฏิเสธ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปักกิ่งเพิ่มแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อไต้หวันในด้านเศรษฐกิจและการทหาร เมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้แสดงแสงยานุภาพทางกองทัพเมื่อเดือนที่แล้วโดยทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ใกล้กับไต้หวัน พร้อมๆ กับสาบานว่าจะปราบปรามกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเอกราชให้กับไต้หวัน

จีนไม่ได้ปฏิเสธการใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ล่าสุดของไต้หวันกับสหรัฐได้กระตุ้นจีนแสดงความโกรธเกรี้ยว หลังจากที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เยือนไทเปเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว จีนได้ยิงขีปนาวุธเหนือไต้หวันและตัดช่องทางทางการทูตบางส่วนกับสหรัฐ 

ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีก 18 เดือนข้างหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรอบการเลือกตั้งในปี 2567 ของสหรัฐ อาจนำไปสู่วาทกรรมต่อต้านจีน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนจะเป็นหัวข้อสำคัญในเส้นทางการรณรงค์ พรรครีพับลิกันอย่างน้อยสามคนซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก่ รอน ดิซานดิส  (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา, เกล็นท์ ยังคิน (Glenn Youngki)n ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย และจอห์น บอล์ตัน (John Bolton) อดีตเอกอัครราชทูตสหประชาชาติ เพิ่งเริ่มเดินทางเยือนเอเชีย รวมถึงไต้หวัน เพื่อพบปะกับผู้นำพันธมิตร 

แต่เจตจำนงทางการเมืองในการปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนอาจขัดแย้งกับพลังทางเศรษฐกิจ

“แทบไม่มีใครตระหนักว่าเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่เหลือเปรียบเหมือนฝาแฝด มันเหมือนกับการพยายามแยกแฝดแฝดออกจากกัน” มัสก์บอกกับ CNBC เมื่อวันอังคารและเสริมว่า “นั่นคือความรุนแรงของสถานการณ์ และสำหรับบริษัทอื่น ๆ จำนวนมากนั้นแย่กว่าเทสลาเสียอีก 

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้รับการไปใช้ในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องซักผ้า ทำให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้ ถ้าล้มไปอาจกลายเป็น “จุดล้มเหลวเพียงจุดเดียว” สำหรับหลายบริษัท  โดยเฉพาะการที่ทั่วโลกรวมถึงจีน พึ่งพาบริษัทTSMC ของไต้หวัน  ซึ่งมีรายงานว่า บริษัทแห่งนี้จัดหาชิปประมาณ 70% ให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และนี่อาจเป็นเหตุผลถูกสหรัฐนำมาอ้าง เปรียบเหมือนเป็นป้อมปราการต่อต้านการรุกรานจากจีน