‘ศิลปะชงชา’ ราชวงศ์ถัง หนุนส่งออกจีนหลายพันล้าน
"ศิลปะชงชา" ราชวงศ์ถัง หนุนส่งออกหลายพันล้าน ขณะข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดื่มชาสมัยราชวงศ์ถังกับประเทศพันธมิตร และการส่งออกชาของจีนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ศิลปะการดื่มชาสมัยราชวงศ์ถังถูกเพิ่มไว้ในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ช่วยผลักดันให้ความนิยมการดื่มชา การสืบทอดกรรมวิธีชงชานับพันปี รวมถึงการส่งออกใบชาที่มีคุณภาพของจีนแพร่หลายไปทั่วโลก ทำรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านดอลลาร์
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานครได้จัดการแสดงศิลปะการชงชาสมัยราชวงศ์ถัง การแสดงคอนเสิร์ตดนตรีจีนพื้นบ้านและดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติกของคณะผู้แทนเส้นทางสายไหมทางวัฒนธรรมเมืองเสิ่นเจิ้น เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย และสานสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน ภายใต้นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
ภายในงานมีการแสดงศิลปะการชงชาราชวงศ์ถัง มีกรรมวิธีตั้งแต่ บดใบชา ร่อนผงชาร้อน เติมน้ำร้อน ใส่น้ำเกลือในหม้อดินชงชา และคนให้เข้ากันจนน้ำเดือดเป็นฟอง เป็นศิลปะการดื่มชาในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูด้านการค้า ศิลปะวัฒนธรรม และวิทยาการก้าวหน้า ก่อให้เกิดธรรมเนียมและมารยาทการดื่มชาในสังคมที่แพร่หลายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
“หยิน จังเฟย” นักวิจัยสถาบันวิจัยชาจากวิทยาลัยเกษตรและวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวว่าผู้คนเข้าใจวัฒนธรรมดื่มชาอันลึกซึ้งมากขึ้น วัฒนธรรมดั้งเดิมกลายเป็นแฟชั่นใหม่ และวัฒนธรรมชาของจีนก็ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับความสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว
ชาจีนโชยกลิ่นหอมไปทั่วโลก
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดื่มชาสมัยราชวงศ์ถังกับประเทศพันธมิตร และการส่งออกชาของจีนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน บ่งชี้ว่าการส่งออกชาของจีนมีปริมาณเกือบ 370,000 ตันในปี 2564 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์
มณฑลกวางตุ้ง ยังคงเป็นภูมิภาคที่ปลูกและผลิตชาที่สำคัญของจีน มีเมืองต่างๆ เช่น กวางโจว เสิ่นเจิ้น ตงกวน บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเป็นแหล่งปลูกชาคุณภาพและส่งออกไปทั่วโลก
'ชาดำ' แชร์ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของตลาดโลก
ชาที่ผลิตในมณฑลกวางตุ้งทำส่วนแบ่งตลาดชาดำในตลาดโลกกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ผู้เล่นต่างชาติครองส่วนแบ่งตลาดชาชนิดนี้ในส่วนที่เหลือ
ชาดำ หรือแบล็คทีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในการดื่มชาท้องถิ่น และนับตั้งแต่ปี 2546 ผู้บริโภคชาวจีนและทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ตระหนักถึงประโยชน์จากการดื่มชา โดยเฉพาะ “ชาผูเอ่อร์” กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะดื่มแล้วดีต่อสุขภาพและมีส่วนช่วยลดความดันเลือด ช่วยแก้ปัญหาเลือดจับตัวเป็นก้อน และความอ้วนได้
“โยรันดา ฮง” ผู้จัดการบริษัทเซี่ยงไฮ้ หมิงซือ เอ็กพอร์ต ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชารายใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ชาจีนเป็นที่นิยมของผู้นิยมดื่มชาทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้รัสเซียกำลังกลายเป็นตลาดนำเข้ารายสำคัญ แม้จะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ตลาดชาจีนยังคงสดใส เนื่องจากความนิยมชาดำ ชาวเขียว ชาผูเอ่อร์ ชาดอกไม้และชาอื่นๆ ของจีน
ขณะที่มณฑลเจ้อเจียง ตั้งอยู่ติดทะเลชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งและส่งออกไปยัง 110 ประเทศทั่วโลก โดยที่เมืองเช่าชิงเป็นพื้นที่ผลิตชาเพื่อส่งออกที่สำคัญ ในรูปแบบมัทฉะ หรือชาเขียวผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปหลายร้อยตันไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศส่งออกมัทฉะรายใหญ่ที่สุดในทุกปี
“เซี๊ยะ หยาน” เจ้าหน้าที่ดูแลการส่งออกชาจีนบริษัทเช่าชิง หยูฉาฉุน ที กล่าวว่า "เราหวังว่าชาเขียวชั้นเยี่ยมของจีน ซึ่งปลูกในสวนชาออร์แกนิกพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ในเมืองฟู่เซิ่งจะเป็นที่รู้จักในระดับสากล และผลักดันให้จีนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชามัทฉะคุณภาพชั้นนำระดับโลก
“ขณะนี้การปลูกและผลิตชาเขียวในเมืองฟู่เซิ่งดีขึ้น บริษัทจึงส่งออกชาคุณภาพสูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ชื่นชอบดื่มชามัทฉะ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบีย” หยาน กล่าว
ตลาดโลกสนใจชาคุณภาพ มากกว่าราคา
ข้อมูลบริษัทเช่าชิง หยูฉาฉุน ทีระบุว่า ในปี 2564 สามารถส่งออกชาเขียวออร์แกนิกเกือบ 200 ตัน มูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์ และมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าชาเขียวที่ส่งออกทั่วไปประมาณ 5 เท่า ซึ่งหมายความว่า ผู้ชื่นชอบดื่มชาต้องการชาเกรดดี มีคุณภาพสูง มากกว่าสนใจเรื่องราคาของชา
'ฟังก์ชันนัล ดริงค์' หนุนยอดขายชาจีน
“หลู่ จีหลง” ประธานบริษัทเช่าชิง หยูฉาฉุน ที กล่าวเสริมว่า เครื่องดื่มประเภทใหม่ หรือฟังก์ชันนัล ดริงค์ จะเป็นเครื่องมือช่วยทำการตลาดและส่งเสริมชาจีนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งในตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ
“หวัง หยูเฟย” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชาแห่งประเทศจีน กล่าวว่า การส่งออกชาคุณภาพสูง ควบคู่กับการเผยแพร่ศิลปะการชงชาแบบดั้งเดิมของจีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก รวมทั้งเครื่องดื่มชาชนิดใหม่ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ จะทำให้เพื่อนต่างชาติเข้าใจวัฒนธรรมชาจีนมากขึ้น