100 ปี ‘เฮนรี คิสซิงเจอร์’ ผู้พลิกโฉมสัมพันธ์สหรัฐ - จีน
วันเสาร์ ที่ 27 พ.ค. นี้ เฮนรี คิสซิงเจอร์จะมีอายุ 100 ปี เขากำหนดนโยบายต่างประเทศสหรัฐมายาวนาน หลายนโยบายเป็นที่ถกเถียงกันมาก
คิสซิงเจอร์รับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัฐบาลประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และเจอรัลด์ ฟอร์ด สำนักข่าวเอเอฟพี รวบรวมช่วงเวลาสำคัญของเขา
จีน
คิสซิงเจอร์แอบบินไปปักกิ่งเงียบๆ เมื่อเดือนก.ค.1971 ในภารกิจสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ ปูทางสู่การเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของนิกสัน ผู้พยายามเปลี่ยนโฉมสงครามเย็น และหาทางช่วยปิดฉากสงครามเวียดนาม
การที่สหรัฐเปิดกว้างกับปักกิ่งที่แปลกแยกตัวเองในขณะนั้นเนื่องจากจีนผงาดขึ้นเตรียมเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต และเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกรองจากสหรัฐ
นับตั้งแต่พ้นตำแหน่ง คิสซิงเจอร์มั่งคั่งกับธุรกิจให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจีน และเตือนไม่ให้สหรัฐใช้นโยบายสายเหยี่ยว
เวียดนาม
เพื่อให้การทำสงครามหายนะของสหรัฐในเวียดนามยุติลงอย่าง “มีเกียรติ” ตามความพยายามของนิกสัน คิสซิงเจอร์สั่งการลับๆ ให้ทิ้งระเบิดในกัมพูชา และเวียดนาม หวังตัดการส่งกำลังบำรุงของฮานอย นักประวัติศาสตร์บางคนประเมินว่า ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตหลายแสนคน
คิสซิงเจอร์ บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับเวียดนามในเดือนม.ค.1973 ผ่านการเจรจาในกรุงปารีส เพื่อลดความเสียหายของสหรัฐให้น้อยที่สุด เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับเลอ ดึกโถ ของเวียดนามแต่เลอปฏิเสธรางวัล สองปีต่อมารัฐบาลเวียดนามใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐล่มสลายลง
รัฐประหาร
ด้วยเชื่อมั่นว่าการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตเป็นเรื่องใหญ่ คิสซิงเจอร์จึงอุทิศตัวโค่นล้มรัฐบาลที่มีแนวโน้มเอียงซ้าย ที่เห็นชัดๆ คือ ชิลี และอาร์เจนตินา
ในบันทึกลับที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้แล้วชี้ให้เห็นการพิจารณาอย่างเย็นชาของคิสซิงเจอร์ เขากล่าวว่า ซัลวาดอร์ อัลเยนเด ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของชิลีเสนอตัวแบบอันตราย ด้วยการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลฝ่ายซ้ายที่มาจากการเลือกตั้งสามารถทำงานได้ จุดจบของอัลเยนเดคือ ฆ่าตัวตายเมื่อถูกทหารที่ซีไอเอหนุนหลังทำรัฐประหาร
การรุกราน
คิสซิงเจอร์ยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ลังเลที่จะสนับสนุนการรุกรานหากเขามองว่าเพิ่มผลประโยชน์สหรัฐ ตอนที่ปากีสถานทำหน้าที่ประสานเรื่องจีนอย่างเงียบๆ เขาเสนอการคุ้มครองทางการทูตให้กับรัฐบาลอิสลามาบัดที่ระดมฆ่า และข่มขืนในปากีสถานตะวันออกที่ต่อมาประกาศเอกราชเป็นบังกลาเทศ
คิสซิงเจอร์ให้ไฟเขียวอินโดนีเซียพันธมิตรยุคสงครามเย็น ยึดติมอร์ตะวันออก เริ่มต้นการยึดครองอย่างกดขี่ 24 ปี
ทั้งยังสนับสนุนตุรกีโดยปริยาย ขณะยึดครองหนึ่งในสามของไซปรัสแสวงหาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศที่วางยุทธศาสตร์ไว้ และรับรู้ถึงความสมดุลในการแข่งขันกับกรีซที่เป็นสมาชิกนาโต
คิสซิงเจอร์ยังนำสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองของแองโกลาเพื่อรับมือโซเวียต และคิวบา
ตะวันออกกลาง
คิสซิงเจอร์อุทิศเวลามากมายให้กับตะวันกลาง ตั้งปฏิบัติการ Nickel Grass ส่งมอบอาวุธทางอากาศขนานใหญ่ให้กับอิสราเอล หลังหลายชาติอาหรับเปิดการโจมตีอย่างไม่คาดฝันในวันยมคิปปูร์ของชาวยิวในปี 1973
ต่อมาคิสซิงเจอร์ต้องไปๆ มาๆ เจรจากับอิสราเอล อียิปต์ และซีเรีย เกิดเป็นนิยาม “การทูตเดินสาย” (shuttle diplomacy) สิ่งที่ส่งผลต่อรัฐบาลมอสโกทันทีคือ คิสซิงเจอร์เปลี่ยนความสัมพันธ์กับอียิปต์ ประเทศอาหรับที่มีประชากรมากที่สุด ด้วยการทำให้อียิปต์เข้ามาเป็นพันธมิตรความมั่นคง และรับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์