สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ‘ฮับ’ค้าทองคำรัสเซียในยุคถูกแซงค์ชัน
‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ ‘ฮับ’ค้าทองคำรัสเซียยุคถูกแซงค์ชัน จากตามปกติแล้วทองคำรัสเซียจะถูกส่งไปขายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและจัดเก็บทองคำรายใหญ่ในยุโรปและของโลก
“สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” หรือยูเออี ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่สำคัญของรัสเซีย หลังจากบรรดาชาติตะวันตกดำเนินนโยบายคว่ำบาตรรัสเซีย หวังตัดท่อน้ำเลี้ยง และบั่นทอนงบประมาณหนุนกองทัพที่เปิดฉากรุกรานยูเครน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากศุลกากรรัสเซียที่ระบุว่า รัสเซียได้ขนทองคำออกนอกประเทศเกิือบ 1,000 ครั้ง นับตั้งแต่ปีที่สงครามยูเครนเริ่มเปิดฉาก ไปยังประเทศหนึ่งในอ่าวอาหรับ ซึ่งมีข้อมูลว่าได้นำเข้าทองคำรัสเซียปริมาณ 75.7 ตัน มูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ต้นในปี 2564
ส่วนจีน และตุรกี เป็นแหล่งค้าทองคำของรัสเซียรองลงมา ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ปี 2565 - 3 มี.ค.ปี 2566 ได้นำเข้าประมาณ 20 ตันต่อครั้ง และแค่เฉพาะสามประเทศที่กล่าวมา พบว่า ยูเออีนำเข้าทองคำรัสเซียคิดเป็น 99.8% ของการส่งออกทองคำรัสเซียทั้งหมด
เมื่อย้อนเวลากลับไป ในช่วงไม่กี่วันหลังสงครามยูเครนเริ่มเปิดฉาก ธนาคารหลายแห่งจำกัดการโอนเงินข้ามประเทศของรัสเซียผ่านระบบ SWIFT ตลอดจนแหล่งค้าแร่และโรงงานผลิตทองคำบางแห่งที่เคยทำกับรัสเซียก็หยุดดำเนินการ เช่น ปกติแล้วทองคำรัสเซียจะถูกส่งไปขายยังลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและจัดเก็บทองคำแห่งใหญ่ในยุโรปและโลก
รอยเตอร์ ระบุว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อังกฤษ สหภาพยุโรป(อียู) สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ แคนาดา และญี่ปุ่นได้สั่งห้ามนำเข้าทองคำแท่งทั้งหมดจากรัสเซีย แต่ข้อมูลการส่งออกทองคำของรัสเซีย บ่งชี้ว่า ผู้ผลิตทองคำรัสเซียพบตลาดใหม่อย่างรวดเร็วในประเทศที่ไม่ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโก เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี และจีน
“หลุยส์ มาร์แชล”ผู้เชี่ยวชาญการจัดหาทองคำจากองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่ทองคำรัสเซียจะถูกหลอมและหล่อขึ้นใหม่ ก่อนจะนำเข้าไปในตลาดสหรัฐและยุโรป โดยที่ต้นกำเนิดผลิตทองคำแท่งครั้งใหม่นี้จะถูกปกปิดเป็นความลับ
“หากทองคำของรัสเซียเข้ามา หล่อขึ้นใหม่โดยโรงงานผลิตทองคำในท้องถิ่น จัดหาโดยธนาคารหรือผู้ค้าในท้องถิ่น แล้วถูกนำมาขายต่อในตลาด คุณก็มีความเสี่ยง นี่คือเหตุผลที่การดำเนินการตรวจสอบสถานะ เพื่อผู้ซื้อปลายทางได้แน่ใจว่า พวกเขาเคารพการคว่ำบาตร” มาร์แชล กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการทองคำแท่งรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยืนยันว่า รัฐดำเนินการด้วยกระบวนการที่ชัดเจนและแข็งแกร่งในการต่อต้านสินค้าผิดกฎหมาย การฟอกเงิน และหน่วยงานที่ถูกลงโทษที่สำคัญยูเออีจะยังคงทำการค้าอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมากับพันธมิตรระหว่างประเทศต่อไป โดยเป็นไปตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่กำหนดโดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ที่ผ่านมา สหรัฐ เตือนประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และตุรกีว่า อาจสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศG7 หากยังทำธุรกิจกับหน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ
ด้านรอยเตอร์ตรวจสอบข้อมูลประเทศเหล่านี้ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่า มีการละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐ ส่วนข้อมูลศุลกากรของรัสเซียที่เปิดเผยกับรอยเตอร์ แสดงให้เห็นว่า รัสเซียส่งออกทองคำ116.3 ตัน ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.ปีที่แล้ว จนถึงวันที่3 มี.ค.ปีนี้ แม้ว่าที่ปรึกษาบริษัทมีทัล โฟกัส ประเมินว่ารัสเซียผลิตทองคำได้ 325 ตันในปี 2565
ทองที่เหลือ ซึ่งขุดได้ในรัสเซียน่าจะยังอยู่ในประเทศหรือส่งออกโดยไม่รวมอยู่ในรายงานของศุลากรรัสเซีย จึงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถระบุสัดส่วนของการส่งออกทองคำทั้งหมดของรัสเซียได้จากข้อมูลดังกล่าว
ส่วนการขนส่งทองคำรัสเซียไปยังจีนส่วนใหญ่ถูกส่งไปที่ฮ่องกงโดยกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียไม่อาจมีสิ่งใดรบกวนหรือการบีบบังคับจากบุคคลที่สาม
เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว สำนักงานศุลกากรสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าทองคำแท่งจากประเทศรัสเซียในปริมาณ 3.1 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของการนำเข้าทองคำทั้งหมด และการนำเข้าทองคำดังกล่าวของประเทศสวิสเซอร์แลนด์สูงกว่าค่าเฉลี่ยการนำเข้าทองคำเดือนละ 2 ตันในช่วงเวลา 12 เดือน สิ้นสุดที่เดือนก.พ.ปี 2565
ถือเป็นการนำเข้าทองคำครั้งแรกของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นับตั้งแต่รัฐบาลรัสเซียเปิดฉากทำสงครามรุกรานประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. และการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ไม่ได้มีเป้าหมายที่การขนส่งทองคำเชิงพาณิชย์โดยตรง แต่ธนาคาร, ผู้ขนส่ง และผู้สกัดทองคำส่วนใหญ่หยุดดำเนินธุรกิจกับรัสเซียหลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางการสกัด และขนส่งทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทองคำแท่งรายใหญ่ที่สุดของโลก
ส่วนสถานการณ์คว่ำบาตรรัสเซียล่าสุด “ฮิโรคาสุ มัตสึโนะ” หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันศุกร์(26พ.ค.) ว่า ญี่ปุ่นจะคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม หลังจากการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตกลงที่จะเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซียที่รุกรานยูเครน
มัตสึโนะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นยังประณามการเคลื่อนไหวของรัสเซียในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในเบลารุส โดยบอกว่า จะทำให้สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
“ในฐานะประเทศเดียวที่เคยถูกทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงสงคราม ญี่ปุ่นต่อต้านภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย และความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์” มัตสึโนะ กล่าว