'อีลอน มัสก์' เยือนจีน เล็งขยายโรงงานเทสลา
แม้รายละเอียดใดเกี่ยวกับการไปเยือนจีนของอีลอน มัสก์ ยังไม่เผยแพร่ แต่ประเด็นที่อาจนำมาพูดคุยคือ การตัดสินใจว่าเทสลาจะขยายการผลิตโรงงานในเซี่ยงไฮ้หรือไม่
เมื่อเดือนมี.ค.2566 มีรายงานว่า มหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทสลา เตรียมเยือนจีนในปีนี้ เพื่อเข้าพบ “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน จนกลายเป็นประเด็นที่น่าติดตามของใครหลายคนว่า จุดประสงค์ของการเยือนจีนครั้งต่อไปเกี่ยวกับอะไร
ล่าสุด มัสก์เดินทางถึงจีน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว กัลฟ์สตรีม G650ER ปี 2015 สำนักข่าวบาร์รอนส์ รายงาน ว่า มัสก์ได้เข้าพูดคุยกับ “ฉิน กัง” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า เทสลาพร้อมขยายธุรกิจในจีนต่อไป
ข้อมูลจากแหล่งข่าวรอยเตอร์ และรูปภาพที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เผยว่า ช่วงเย็นวันอังคาร มัสก์รับประทานอาหารค่ำร่วมกับ “เจิ้ง หยูชุน” ประธานบริษัท CATL ด้วย CATL เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีนและซัพพลายเออร์เทสลารายสำคัญ แต่บริษัท CATL ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ
แหล่งข่าวยังบอกอีกด้วยว่ามัสก์อาจจะเข้าพบกับผู้นำจีนคนอื่นๆ หลังจากนั้นอาจเยือนโรงงานเทสลาในเซี่ยงไฮ้ในสัปดาห์ต่อไป แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า มัสก์จะเข้าพบผู้นำคนใดอีก และพูดคุยประเด็นใด
วันที่สองของการเยือนจีน มัสก์ได้เดินทางไปกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยช่วงเช้าวันพุธ (31 พ.ค.) มัสก์เดินทางออกจากโรงแรมพร้อม “เกรซ เต๋า” ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์เทสลา ประเทศจีน และ “ทอม จู” หัวหน้าฝ่ายการผลิตทั่วโลกของเทสลา
ณ กระทรวงพาณิชย์ มัสก์ ได้จับมือกับ “หวัง เหวินเทา” รัฐมนตรีพาณิชย์จีน จากนั้นเดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม และข้อมูล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน
ถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุ “จีนส่งเสริมการเปิดประเทศจนถึงระดับสูงสุดอย่างแน่วแน่ และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ถูกกฎหมาย และเป็นสากลมากขึ้นเพื่อธุรกิจต่างๆ จากทั่วโลก รวมถึงบริษัทเทสลา”
แม้ไม่มีรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม แต่ประเด็นที่อาจนำมาพูดคุยคือ การตัดสินใจว่าเทสลาจะขยายการผลิตโรงงานในเซี่ยงไฮ้หรือไม่ ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตสูงสุดของบริษัท และสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ราว 1 ล้านคันต่อปี
อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนคือ หน่วยงานกำกับดูแลของจีนจะยกเลิกฟีเจอร์ช่วยขับรถอัจฉริยะของเทสลาหรือไม่ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวสามารถใช้งานได้ในสหรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ต่อรถยนต์หนึ่งคัน
การเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 3 ปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เทสลาเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจีน เนื่องจากมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก และเผชิญกับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนขยายการผลิตโรงงานเทสลาในเซี่ยงไฮ้
โรงงานดังกล่าว สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Model Y และ Model 3 ได้มากกว่า 700,000 คันในปีก่อน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนรถยนต์ที่เทสลาผลิตได้ทั่วโลก
ปัจจุบัน เทสลากำลังมองหาโรงงานผลิตรถยนต์แห่งต่อไป และประเทศอินเดียถูกเอ่ยถึงว่าเป็นทำเลที่น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งสามารถช่วยให้เทสลากระจายซัพพลายเชนของบริษัทนอกจากประเทศจีนได้
อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ใช่ซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่คนแรกที่เดินทางไปจีน แต่เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพี มอร์แกน คาดว่า จะเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 4 ปี ภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอดธุรกิจในเซี่ยงไฮ้
ซ้าน อีลอน มัสก์ ขวา ฉิน กัง
ขณะที่ซีอีโอชาติตะวันตกรายอื่นๆ พยายามปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ระหว่างสหรัฐ และจีนให้ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ความมุ่งมั่นของมัสก์ที่มีต่อโรงงานผลิตยานยนต์ในจีน อาจเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
“แดน อีฟส์” นักวิเคราะห์จากเวดบุช กล่าว “ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ และจีนเพิ่มขึ้น เทสลา และแอ๊ปเปิ้ล พบว่า บริษัทตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในการสร้างความสมดุลระหว่างความสำเร็จ และการผลิตภายในประเทศจีน ซึ่งยังคงเป็นตลาดที่สำคัญทั้งในด้านอุปสงค์ และอุปทาน”
“เจฟฟ์ ชุง” นักวิเคราะห์จากซิตี้ เผยว่า จีนเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับเทสลา เพราะเป็นตลาดรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดจำหน่ายยานยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่สูงถึง 4.5 ล้านคันในปี 2565 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของยอดจำหน่ายยานยนต์อีวีทั่วโลก และคาดว่ายอดจำหน่ายจะเติบโตมากขึ้นประมาณ 30% ในปี 2566
ถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศจีน รายงานสิ่งที่มัสก์กล่าว ในที่ประชุมกับกัง “ผลประโยชน์ของสหรัฐและจีนมีความเชื่อมโยงกัน และเขาคัดค้านการแยกส่วนผลประโยชน์ออกจากกัน”
ทั้งนี้ เทสลาจำหน่ายรถยนต์ในจีนได้ประมาณ 440,000 คัน ในปี 2565 ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดของบริษัท และเทสลาสามารถโกยส่วนแบ่งยอดขายในจีนได้เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากทำการปรับลดราคารถยนต์ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ผล แต่บริษัทยังเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งหลายบริษัท เช่น บีวายดี
แม้บีวายดีคือ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในจีน แต่เทสลาเป็นบริษัทจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์