มูลค่าทวิตเตอร์หด 2 ใน 3 ฝีมือการบริหารของ 'อีลอน มัสก์'ช่วง 6 เดือน

มูลค่าทวิตเตอร์หด 2 ใน 3  ฝีมือการบริหารของ 'อีลอน มัสก์'ช่วง 6 เดือน

ฟิเดลิตี บริษัทด้านการลงทุนรายงานว่า มูลค่าของทวิตเตอร์ลดลงเหลือ 1 ใน 3 หรือเพียง 33% ของราคา 44,000 ล้านดอลลาร์ ที่ 'อีลอน มัสก์' เข้าซื้อกิจการเมื่อเดือนต.ค. ปี 2565

นับตั้งแต่มัสก์เข้าไปบริหารในฐานะเจ้าของ และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ก็เกิดปัญหาหลายระลอก จนมูลค่าที่แท้จริงของทวิตเตอร์ลดลงไปอยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นของฟิเดลิตีตอนที่มัสก์เข้าซื้ออยู่ที่ 19.66 ล้านดอลลาร์ ร่วงลงไปอยู่ที่ 6.55 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ปี 2566 

ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในรูปแบบของไมโครบล็อกแห่งนี้ ยังเผชิญกระแสความขัดแย้งไม่หยุด ล่าสุด ส.ส.หญิงอเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ แห่งรัฐนิวยอร์ก ของพรรคเดโมแครต บอกว่าจะเลิกเล่นทวิตเตอร์ ถ้าพบว่ามัสก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีปลอมที่ล้อเลียนเธอ

ในส่วนของมัสก์ ไม่ได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ในขณะที่เขาอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งนับเป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของเขาหลังโควิด-19 ระบาด

มัสก์ โพสต์ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวเป็นประจำทุกวันในปี 2566 โดยบ่อยครั้งก็โพสต์วันละหลายข้อความ จนกระทั่งพักการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ไปตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเดินทางเยือนประเทศจีน ซึ่งการงดเล่นทวิตเตอร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการพักจากโซเชียลมีเดียที่นานที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาอยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์

มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจำนวนมากที่ถูกแบนจากทางการจีน ซึ่งรวมถึงทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก แม้ว่าจะมีผู้คนเข้าใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตส่วนตัวหรือ VPN ก็ตาม

รายงานระบุว่า ประชาชนสามารถใช้งานโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ข่าวที่ถูกทางการจีนแบนผ่าน VPN ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานก้าวข้ามกลไกการเซนเซอร์ของจีนโดยสร้างการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย และมีรหัสผ่าน แต่การใช้งาน VPN ส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในจีน แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนั้นไม่เข้มงวดนัก และประชาชนหลายคนในจีนยังคงใช้บริการนี้อยู่

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์