‘ช็อกโกแลต’ มีส่วนช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.6 พันล้านตัน/ปี
รู้หรือไม่ ช็อกโกแลตก็มีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้ เนื่องจากเปลือกโกโก้หลังจากการผลิตช็อกโกแลต สามารถนำไปผลิตถ่านชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,600 ล้านตันต่อปี !
Key Points:
- ไบโอชาร์สามารถนำไปดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,600 ล้านตัน จากคาร์บอนไดออกไซด์ 40,000 ล้านตันที่มนุษย์สร้างในแต่ละปี
- หากเปลือกโกโก้ถูกกำจัดตามปกติ คาร์บอนที่ไม่ได้ใชงานในเปลือก จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศขณะที่ย่อยสลาย
- การผลิตถ่านชีวภาพต้องทำในท้องถิ่น ต้องมีการขนส่งน้อยหรือไม่มีการขนส่งเลย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดักจับคาร์บอนนี้ ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าที่ผลิต
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองท่าฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีแปลรูปเปลือกเมล็ดโกโก้ออกมาเป็นผงสีดำ ซึ่งมีศักยภาพช่วยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ผงสีดำดังกล่าว เรียกว่า ไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ ผลิตได้โดยการให้ความร้อนเปลือกโกโก้ 600 องศาเซลเซียส ในห้องปราศจากออกซิเจน สารดังกล่าวสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหรือเป็นส่วนผสมของคอนกรีตสีเขียว
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า แม้อุตสาหกรรมไบโอชาร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เทคโนโลยีนี้เป็นวิธีใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศโลกได้
จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ระบุว่า ไบโอชาร์สามารถนำไปดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,600 ล้านตัน จากคาร์บอนไดออกไซด์ 40,000 ล้านตันที่มนุษย์สร้างในแต่ละปี แต่การเพิ่มการใช้งานยังคงเป็นความท้าทาย
ถ่านชีวภาพจากเปลือกโกโก้
เซอร์คิวลาคาร์บอน โรงงานไบโอชาร์ในฮัมบูร์ก หนึ่งในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป รับเปลือกโกโก้ที่ใช้แล้วผ่านเครือข่ายท่อสีเทาจากโรงงานผลิตช็อกโกแลตใกล้เคียง
ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย หรือสินค้าจะบรรจุในถุงกระสอบสีขาว และนำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นในรูปแบบเม็ด
“ซิลวิโอ ชมิดต์” หนึ่งในเกษตรกรที่ซื้อไบโอชาร์และปลูกมันฝรั่งใกล้เมืองเบรเมิน ทางตะวันตกของฮัมบูร์ก หวังว่า ไบโอชาร์จะช่วยให้ดินที่ปลูกพืชได้รับสารอาหารและน้ำมากขึ้น
“เดวิด ฮูเบน” นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากสถาบัน UniLaSalle ในฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ไบโอชาร์ 1 ตัน สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่า 2.5-3 ตัน”
หากเปลือกโกโก้ถูกกำจัดตามปกติ คาร์บอนที่ไม่ได้ใชงานในเปลือก จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศขณะที่ย่อยสลาย
ทั้งนี้ ชนพื้นเมืองในอเมริกาเคยนำถ่านชีวภาพไปใช้เป็นปุ๋ย ก่อนที่จะถูกค้นพบถ่านชนิดนี้อีกครั้งในศตวรรษที่ 20 หลังจากนักวิทยาศาสตร์วิจัยดินในลุ่มน้ำอเมซอนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก
เปลือกโกโก้
ต้นทุนที่ต้องแบกรับ
กระบวนการผลิตถ่านชีวภาพที่เรียกว่าไพโรไลซิส จะได้ก๊าซชีวภาพด้วย ซึ่งจะนำไปจำหน่ายให้โรงงานใกล้เคียง โดยถ่านชีวภาพ 3,500 และก๊าซชีวภาพสูงสุดที่ 20 เมกะวัตต์ชั่วโมง มาจากการผลิตเปลือกโกโก้ 10,000 ตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม การผลิตยังคงเพิ่มกำลังตามที่ไอพีซีซีคาดหวังไว้ได้ยาก
ฮูเบน กล่าวว่า “การผลิตถ่านชีวภาพต้องทำในท้องถิ่น ต้องมีการขนส่งน้อยหรือไม่มีการขนส่งเลย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดักจับคาร์บอนนี้ ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าที่ผลิต ไม่อย่างนั้น อาจไม่สมเผตุสมผลที่จะผลิตถ่านชนิดนี้ และไม่ใช่ว่าดินทุกชนิดจะใช้กับถ่านชีวภาพได้ ปุ๋ยชนิดนี้จะใช้งานได้ดีในสภาพอากาศเขตร้อน และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็ไม่ได้มีอยู่ทุกที่ ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตประมาณ 1,000 ยูโรต่อตัน ซึ่งสูงเกินไปสำหรับเกษตรกร”
เพื่อให้ถ่านชีวภาพนำไปใช้ได้มีคุณค่ามากขึ้น จึงจำเป็นต้องนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสีเขียว แต่ถ้าจะให้ได้กำไร ธุรกิจถ่านชีวภาพต้องขายคาร์บอนเครดิต ให้กับบริษัทที่ต้องการสร้างสมดุลการปล่อยคาร์บอนด้วยการผลิตถ่านชีวภาพตามที่กำหนด
“พีค สเตนลันด์” เจ้าของโรงงานถ่านชีวภาพจากเปลือกโกโก้ เล็งขยายโรงงานเพิ่ม 3 แห่ง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อผลิตถ่านชนิดนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการถ่านชีวภาพทั่วยุโรปเริ่มมีมากขึ้นแล้ว จากข้อมูลของสมาพันธ์อุตสาหกรรมถ่านชีวภาพ ระบุว่า การผลิตถ่านชนิดนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า สู่ระดับ 90,000 ตันในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565