‘เด็กจบใหม่จีน’ ตั้งคำถาม หลัง ‘สี จิ้นผิง’ แนะให้อดทนต่อความลำบาก

‘เด็กจบใหม่จีน’ ตั้งคำถาม หลัง ‘สี จิ้นผิง’ แนะให้อดทนต่อความลำบาก

“เด็กจบใหม่” ในจีนหางานทำไม่ได้ เนื่องจากตลาดงานหดตัว ขณะที่รัฐบาลบอกให้ต้องอดทนต่อความยากลำบาก ไปใช้แรงงานในพื้นที่ชนบท จนเกิดคำถามทำไมต้อง “ลำบาก” ตามคนรุ่นก่อน ?

คนหนุ่มสาวในจีนกำลังเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ “ตลาดงาน” หดตัว ส่งผลให้การจ้างงานลดลง ขณะที่ผู้นำสูงสุดของประเทศกลับบอกให้พวกเขาย้ายไปหางานในชนบทหรือเป็นแรงงานไร้ฝีมือแทน พร้อมบอกให้“เด็กจบใหม่”หัดอดทนและเรียนรู้ความยากลำบาก 

 

  • สี จิ้นผิง แนะเด็กรุ่นใหม่ต้องอดทนกับความลำบาก

คนจีนมักจะสอนลูกหลานให้รับรู้ “รสชาติความยากลำบากในชีวิต” และเห็นว่ามันเป็น “บทเรียนชีวิต” ที่ควรได้เจอ แต่นี่กลับเป็นครั้งแรกที่ออกจากปากของผู้นำของประเทศอย่าง “สี จิ้นผิง” ที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ People’s Daily เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา

“หลายครั้งที่ความสำเร็จในชีวิตเกิดขึ้น ก็เป็นผลมาจากความยากลำบากในชีวิตวัยเด็ก” ประธานาธิบดีของจีนกล่าว นอกจากนี้ ยังพบว่าในบทความดังกล่าวเขาพูดถึง “ความขมขื่นในชีวิต” ถึง 5 ครั้ง อีกครั้งยังกระตุ้นคนหนุ่มสาว "แสวงหาความยากลำบากให้ตัวเอง" โดยเขาได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในชนบทช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของตนเองอีกด้วย

ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ เหมา เจ๋อตง บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลัง “จัดระเบียบประเทศ” เขาได้ส่งคนหนุ่มสาวในเมืองกว่า 16 ล้านคน รวมทั้ง สี จิ้นผิง ไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เป็นแรงงานทำไร่ทำนาในชนบท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการวางระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนเต็มที่ (Planned Economy) ทำให้คนหนุ่มสาวต้องยอมรับการจ้างงานจากระบบคอมมิวนิสต์

บทสัมภาษณ์สร้างความไม่พอใจให้แก่หนุ่มสาวชาวจีนเป็นจำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาตั้งใจเรียนอย่างหนักเพื่อคว้าปริญญาเป็นใบเบิกทางหางานที่มั่นคง และเงินเดือนดี แต่รัฐบาลกลับพวกเขาไปทำงานใช้แรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่า แถมต้องทำงานต่อวันนานขึ้น เพื่ออะไร?

“ทำไมสี จิ้นผิงถึงต้องการให้คนหนุ่มสาวละทิ้งชีวิตที่สงบสุขและมั่นคง แล้วหันไปหาชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ทรมานแทน” ไฉ่เซินคุน นักวิจารณ์การเมืองอิสระ แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยเรียกข้อเสนอของสี จิ้นผิงว่า “เป็นการกระทำที่ดูถูกเหยียดหยามคนรุ่นใหม่”

ในปีนี้จะมี “เด็กจบใหม่” ระดับปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 11.6 ล้านคน โดย 1 ใน 5 ของคนรุ่นใหม่ไม่มีงานทำ ดังนั้นผู้นำจีนจึงหวังจะโน้มน้าวให้เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางความเจริญ ยอมรับกับความเป็นจริงอีกชุดที่มีอยู่ในสังคม

อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานของเยาวชนเป็นสถิติที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าหากว่าคนหนุ่มสาวว่างงานมาก ๆ อาจจะวางแผนล้มล้างการปกครองของตนได้

  • โฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐ

แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลจีนจะยังไม่ได้เกณฑ์คนหนุ่มสาวออกไปเป็นแรงงานในพื้นที่ห่างไกลเหมือนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ใช้วิธีการสร้างโฆษณาชวนเชื่อทางเศรษฐกิจ โดยบอกเล่าเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่ทำมาหากินด้วยการส่งอาหารเดลิเวอรี เก็บขยะขาย ขายอาหารออนไลน์ รวมถึงทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ เช่น ปลูกผัก ทำฟาร์ม ฯลฯ

New York Times มองว่าโฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นการปั่นหัวประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้รู้สึกผิดที่ไม่หางานทำ หวังรอแต่งานที่ตรงสาย ซึ่งเป็นการพยายามเบี่ยงเบนประเด็นของทางรัฐบาล ไม่ให้ประชาชนมองหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่วางนโยบายทำลายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เช่น การปราบปรามภาคเอกชน มาตรการโควิดเป็นศูนย์ รวมถึงกำหนดข้อจำกัดโควิดที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น และการโดดเดี่ยวคู่ค้าของจีน

ดูเหมือนว่าสารสื่อสารของรัฐบาลในครั้งนี้ เริ่มได้ผลกับคนหนุ่มสาวบางกลุ่ม อย่างเช่น อดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลจากเซี่ยงไฮ้รายหนึ่งที่ตกงานมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เขาไม่โทษว่าการว่างงานของตัวเองเกิดจากโรคระบาดหรือการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐ แต่กลับพูดว่า ที่เป็นเพราะเขาไม่มีความสามารถและโชคไม่เข้าข้าง ทำให้ต้องสมัครเป็นพนักงานส่งอาหารที่ทำงาน 11-12 ชั่วโมง แลกกับเงิน 700 ดอลลาร์ต่อเดือน และต้องยกเลิกบริการสตรีมมิงทั้งหมด เพราะเงินไม่พอ

แต่ท้ายที่สุด เขาก็ต้องลาออกจากการเป็นพนักงานส่งอาหารเพราะงานหนักเกินไป แสดงให้ว่าสุดท้ายแล้วการอดทนต่อความยากลำบากที่สี จิ้นผิงกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้เขาประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

 

  • พ่อแม่ให้ลูกเรียนสูง ๆ เพื่อให้ลูกสบาย

มีรายงานว่า สี จิ้นผิง กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าให้แนะนำเหล่าเด็กจบใหม่ให้ไปหางานทำในชนบท นอกจากนี้ ในวันเยาวชนแห่งชาติที่ผ่านมา จดหมายชื่นชมกลุ่มนักเรียนเกษตรกลุ่มที่ทำงานในพื้นที่ชนบทจากผู้นำของประเทศถูกตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ People’s Daily พร้อมยกย่องนักศึกษากลุ่มนี้ว่ามีความกล้าหาญที่ออกไปเผชิญความยากลำบากด้วยตนเอง

การแสดงออกและท่าทีของสี จิ้นผิง ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า เขาจะเริ่มใช้นโยบายแบบ “ลัทธิเหมา” เพื่อส่งเยาวชนในเมืองไปยังชนบทหรือไม่?

หากเป็นจริงนโยบายดังกล่าวจะทำลายความฝันของคนรุ่นใหม่และพ่อแม่ของพวกเขาให้ย่อยยับลงในพริบตา เพราะคนรุ่นพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรพยายามหาเงินจำนวนมากส่งลูกเรียนสูง ๆ เพื่อหวังให้ลูกมีหน้าที่การงานดี มีเงินเดือนสูง ๆ ไม่ต้องทนลำบากทำงานหลังขดหลังแข็งแบบพวกเขา

ชีวิตที่ต้องดิ้นรนออกจากความจนนี้ เกิดขึ้นจากจีนมีสังคมแบบลำดับชั้น งานที่ใช้แรงงานและทำการเกษตรในชนบทมักจะโดนดูถูก เนื่องจากช่องว่างระหว่างรายได้ในเมืองและพื้นที่ชนบทแตกต่างกันมาก

สำหรับคนหนุ่มสาวบางคนแล้ว วิธีการแก้ปัญหาการว่างงานของผู้นำดูล้าหลังไปมาก โดยมองว่าการรับใช้ประเทศชาติไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเสมอไป การทำงานในส่วนอื่น ๆ ก็ช่วยฟื้นฟูเศรฐกิจของประเทศได้เช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่คนหนุ่มสาวกำลังเป็นกังวลกับตลาดงานในประเทศที่มีน้อยเกินไป จนมองไม่เห็นอนาคตของตนเองในจีน 

บางทีทางออกเดียวที่พวกเขาจะสามารถลืมตาอ้าปากได้ อาจจะเป็นการเกลี้ยกล่อมให้พ่อแม่ปล่อยพวกเขาออกจากประเทศจีนก็เป็นได้


ที่มา: Japan TimesNew York Times