วิกฤต! 'แรงงานไทย' ขาดแคลนทุกระดับ ปรับเพิ่มค่าแรง ทางรอดจริงหรือ?
1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ ในปีนี้ คนไทยมีงานทำ 39.57 ล้านคนว่างงาน 4.91 แสนคน แรงงานในระบบส่วนใหญ่เป็นสูงวัย ขาดทักษะเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานทุกระดับ ขณะที่คนรุ่นใหม่จบแล้วภายใน 2-3 ปียังไม่เข้าสู่ตลาดงาน
Keypoint:
- 1 พ.ค.ของทุกปีตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีแรงงานหลายภาคส่วนได้ออกมาเรียกร้องถึงค่าแรง สวัสดิการที่ตนเองควรจะได้รับ โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่ประเทศขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ในทุกระดับทั้งมีทักษะ กึ่งทักษะ และแรงงานระดับล่าง หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะส่งผลต่อทุกภาคส่วนของประเทศ
- เทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับ Work-life Balance และเมื่อจบการศึกษาจะไปทำงานต่างประเทศในทักษะที่ต่ำกว่าศักยภาพ อีก 2-3 ปี ถึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
- การปรับเพิ่มค่าแรงเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น เพราะขณะนี้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป นายจ้างเน้นจ้างเป็นจ็อบๆ ต้องปรับเพิ่มค่าจ้างพร้อมกับการสร้างความมั่นคงในงาน
วันแรงงานแห่งชาติ (National Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกถึงผู้ใช้แรงงาน มาเรียนรู้ถึงประวัติที่มาของวันแรงงานแห่งชาติกัน และถือเป็นวันหยุดประจำปีที่เฉลิมฉลองไปทั่วโลก เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ 'แรงงาน' เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
กรมการจัดหางาน ประมาณการว่าในปี 2566 จะมีจำนวนแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน 373,488 คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมฯ ต้น 48,453 คน หรือ 12.97% มัธยมฯ ปลาย 12,063 คน หรือ 3.23% ปวช. 60,680 คน หรือ 16.25% ปวส. 87,176 หรือ 23.34 % และ ปริญญาตรี 165,115 คน หรือ 44.21%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่มาวันหยุด 'วันแรงงาน' 1 พฤษภาคม ข้อกฎหมายนายจ้าง ลูกจ้างต้องรู้
แนวโน้มจ้างงานในไทยปี 66 พุ่ง เช็ก 3 สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ
ไทยวิกฤตแรงงานขั้นสุด ขาดคนทุกระดับ
ขณะที่ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงาน รวม 40.09 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน และว่างงาน 4.91 แสนคน
โดยผู้ว่างงานเกือบ 5 แสนคนคิดเป็นอัตราว่างงาน ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม และผู้ว่างงานทั้งหมดเป็นคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมากกว่า 2.56 แสนคน โดยผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีว่างงานมากที่สุด 1.8 แสนคน และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 412,466 คน ซึ่งมากกว่าปี 2566 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรและกำลังแรงงานที่มากขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า สภาวะการทำงานในไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่ามีแรงงาน 39.6 ล้านคน โดยเป็นแรงงานในภาคธุรกิจ 24 ล้านคน และ 50% ของแรงงานดังกล่าวเป็นแรงงานประกันสังคม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนแรงงานลดลงเกิดจากบริบทของแรงงานหลังโควิด-19 พอการท่องเที่ยวกลับมาบูมอีกครั้ง แต่แรงงานกลับมาเพียง 10% ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกภาคธุรกิจขาดแคลนแรงงานอย่างมาก
“วิกฤตด้านแรงงานทุกระดับตั้งแต่ระดับที่มีทักษะ กึ่งทักษะ และแรงงานระดับล่าง ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของประเทศ เพราะที่ผ่านมาเราจะวิกฤตเฉพาะในส่วนของแรงงานระดับล่าง จนต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ แต่มาตอนนี้วิกฤตแรงงานทุกระดับและในทุกภาคอุตสาหกรรม ยิ่งในธุรกิจโรงแรม พนักงานโรงแรม เซฟ พ่อครัวแม่ครัว ตอนนี้กลับมาทำงานในระบบน้อยมาก ขณะเดียวกัน คนที่ทำงานในภาคบริการ อย่าง แอร์โฮสเตส ต่างเปลี่ยนอาชีพ มาประกอบธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น แรงงานในระบบตอนนี้จึงเป็นแรงงานสูงวัย ตั้งแต่อายุ 45 ปีมากขึ้น”นายธนิต กล่าว
เทรนด์เด็กรุ่นใหม่จบ 2-3ปี ค่อยทำงาน
แรงงานไทยจะอยู่ในอาชีพ องค์กรได้ประมาณ 50 ปี เพราะถ้าเกินอายุ 50 จะถูกเลิกจ้าง หรือถูกมองว่าเป็นแรงงานสูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดทักษะในหลายด้าน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ เมื่อจบการศึกษาส่วนหนึ่งจะไม่เข้าสู่ระบบการทำงานทันที พวกเขาจะใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ดำเนินชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ และประมาณ 2-3 ปี ถึงจะเข้าสู่ระบบการทำงานจริงๆ
นายธนิต กล่าวต่อว่า เมื่อจบการศึกษา บัณฑิตส่วนใหญ่ไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานทันที พวกเขาจะเน้นทำสตาร์ทอัพ เป็น SME และไปทำงานในต่างประเทศ ในลักษณะ Work and Travel ทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และส่วนมากจะไปทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ เช่น ไปเป็นเด็กล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ ซึ่งจากการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน พบว่า เด็กจบใหม่ไปทำงานต่างประเทศหลักแสนกว่าคน รวมถึงเทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ จะรักอิสระ ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร อยากใช้ชีวิตไปด้วยทำงานไปด้วย ทำให้ขณะนี้ปัญหาของแรงงานไทยมีหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข
รวมทั้ง ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีประมาณ 3 ล้านกว่าคน เนื่องจากเศรษฐกิจมีการขยายตัว โดยเฉพาะด้านงานก่อสร้างในส่วนของภาครัฐที่มีการขยายตัว 7-8% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวเริ่มน้อยลง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องพิสูจน์ต่างชาติส่งผลให้แรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา และสปป.ลาวเข้าประเทศน้อยลง
จัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาแรงงาน
นายธนิต กล่าวต่อไปว่าภาคธุรกิจ ภาคการเกษตร และทุกภาคอุตสาหกรรม ยังคงขับเคลื่อนด้วยแรงงานเป็นหลัก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการดูแลแรงงาน หรือแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างชัดเจน ดังนั้น ภาครัฐ หรือภาคธุรกิจ ควรจะมีการกำหนดภาพรวมของตลาดแรงงาน เพื่อรักษาคน และหาคนเข้าสู่ตลาดงาน ตอนนี้ผู้ประกอบการไทย นายจ้างต้องแย่งชิงคนเก่ง คนที่มีทักษะ แต่ขณะเดียวกันแรงงานที่อยู่ในระบบกลับต้องอัพสกิล รีสกิล
“การจะแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน หรือพัฒนาทักษะแรงงาน ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอัตราการว่างงานในแต่ละภาคธุรกิจเป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนไปถึงการผลิตจำนวนแรงงานที่ต้องการในแต่ละภาคธุรกิจ เพราะแต่ละภาคธุรกิจต้องการแรงงานที่ทักษะแตกต่างกัน อีกทั้งควรมีกฎหมายรองรับ หรือสวัสดิการเพื่อดึงให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงาน มีการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะขั้นสูงมากขึ้น เพื่อลดภาระของคนวัยทำงาน และรองรับสังคมผู้สูงอายุ” นายธนิต กล่าว
ทั้งนี้ เด็กรุ่นใหม่จะมี 2 ลักษณะ คือ เด็กที่จบการศึกษาแล้วทำงานไม่ได้ มีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือตลาดแรงงาน กับเด็กที่พร้อมทำงาน แต่จะอยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว
อัพทักษะ ขึ้นทะเบียน Work and Travel
นายธนิต กล่าวต่อว่าการจะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบการทำงานทันที นอกจากเรื่องของค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว ต้องมีการฝึกอบรม พัฒนาทักษะในสิ่งที่สอดคล้องกับอาชีพของพวกเขา เช่น เด็กที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ควรจะพัฒนาทักษะให้แก่พวกเขา รวมถึงสนับสนุนเรื่องของเงินลงทุน หรือการตลาด
เพราะเด็กรุ่นใหม่ เขามีศักยภาพ มีความคิด ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม หรือภาคเอกชนขนาดใหญ่ ส่งเสริมสตาร์ทอัพ สนับสนุนด้านต่างๆ และดึงสตาร์ทอัพมาเป็นซัพพลายเชน รัฐบาล ภาคเอกชนควรส่งเสริมให้เป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงเด็กที่ไป Work and Travel ควรมีการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน
ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น ‘ค่าจ้างแรกเข้า’
นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า ภาพรวมของแรงงานเริ่มกลับเข้าสู่ระบบการทำงานมากขึ้น แต่รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตอนนี้ทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจจะจ้างงานแบบชั่วคราว หรือเป็นจ็อบๆ ไป ไม่มีการจ้างงานประจำ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานจะขาดความมั่นคงทางอาชีพ และรายได้
ดังนั้น แรงงานในหลายภาคอุตสาหกรรมต้องทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง เพื่อต้องการโอที ซึ่งการทำงานเกินเวลา ส่งผลให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ อย่าง การเลี้ยงดูลูกหลาน หรือการให้เวลากับครอบครัว เกิดปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น
“ตอนนี้ค่าแรงของแรงงานต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ซึ่งอยากให้รัฐบาลชุดใหม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นควรจะปรับไปตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ตอนนี้ยังยืนยันตัวเลขเดิมขั้นต่ำที่ 492 บาท และอยากเสนอให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนคำนิยามจากค่าแรงขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้รัฐบาลออกกฎหมายให้ทุกบริษัทมีโครงสร้างค่าจ้าง หมายความว่า จะต้องให้แต่ละบริษัท ปรับค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 และในทุกปีนายจ้างควรปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง และหากใครทำผลงานได้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามประเมินในระดับที่ดีก็ควรจะเพิ่มเงินให้แก่พวกเขา เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน และดูแลครอบครัว” นายชาลี กล่าว
ค่าจ้างเหมาะสม มีความมั่นคงในงาน
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าอัตราการว่างงาน การมีงานทำในประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งการวัดว่าจะมีงานทำหรือไม่ วัดเป็นรายชั่วโมง เช่น ทำงานในภาคการเกษตร 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือทำงานเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ ก็จะนับว่าคนๆ นั้นมีงานทำ ทั้งทีรูปแบบการทำงานของคนยุคใหม่จะเป็นลักษณะ ทำเป็นพาสไทม์ เป็นจ็อบๆ ไป ดังนั้น คนทำงานมีมากขึ้น แต่ไม่มีความมั่นคงทางการงานเหมือนเดิม
นอกจากนั้น การปรับตัวของภาคธุรกิจจากเหตุโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนนิยมการจ้างงานเป็นจ็อบๆ จ้างงานคนที่มีทักษะหลากหลาย ทำงานได้ทุกรูปแบบ ดังนั้น แรงงานที่ทำงานตามทักษะเพียงอย่างเดียว และไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้มีทักษะไม่ทันตามที่ผู้ประกอบการต้องการ ขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ที่จบการศึกษา มักจะไม่มีประสบการณ์ และคนทำงานกลุ่มอายุ 45 ปี ขึ้นไปจะเคยชินกับเทคโนโลยีแบบเดิม ทำให้ทั้งแรงงานเอง ภาคธุรกิจเองต้องพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง
อัพสกิล-รีสกิล หนุนการจ้างงานเชิงระบบ
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อไปว่า การอัพสกิล รีสกิล จะใช้ในกลุ่มแรงงานอายุน้อยได้ผลมากกว่า เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้มีการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีในการทำงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องฝึกฝนให้เขารู้จักใช้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันภาครัฐเองต้องมองการจ้างงานเป็นระบบ เอารายได้จากเศรษฐกิจช่วยประคองให้แรงงานสามารถทำงาน และมีรายได้
“มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษาได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตคน เพราะต้องยอมรับว่าเด็กสามารถค้นหาความรู้ด้านวิชาการได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่เขามีการใช้ชีวิต มีไลฟ์สไตล์ และเป็นผู้เลือกงาน ไม่ใช่องค์กรเป็นผู้เลือกคน บทบาทของมหาวิทยาลัย คณาจารย์จึงเป็นเสมือนโค้ชที่คอยเติมเต็มให้แก่พวกเขา และสถาบันการศึกษามีการปรับตัวสอนเป็นหลักสูตรระยะสั้น เก็บเป็นหน่วยกิตได้ เพื่อให้คนทุกวัยสามารถเข้ามาพัฒนาตัวเองได้”ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ เทคโนโลยี และโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การที่นักศึกษา คนรุ่นใหม่ อยากจะทำงานไปด้วยใช้ชีวิตไปด้วยอย่างสมดุล Work-life Balance นั้นสามารถทำได้ ซึ่งคนรุ่นใหม่ มีขีดความสามารถ การคิดวิเคราะห์มีแหล่งเรียนรู้ ทุนเดิมของพวกเขาดีและมีศักยภาพ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษาต้องทำให้พวกเขามองหาแนวทางที่เหมาะสมกับพวกเขา และมีทักษะ มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดงาน