การชำระเงินผ่านมือถือบูม หนุนธุรกิจตู้กดสินค้าอัจฉริยะ
การชำระเงินผ่านมือถือบูม หนุนธุรกิจตู้กดสินค้าอัจฉริยะ โดยตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะหนุนยอดขายสินค้าที่ถูกเลือกมาจำหน่ายผ่านตู้ประเภทนี้ในมาเลเซียโต 70% ส่วนในจีนขยายตัว 40% ในสิงคโปร์และไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนกำลังมาแรง เนื่องจากตู้ประเภทนี้รับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ประกอบกับผู้บริโภคมีพฤติกรรมชอปปิงแบบไร้เงินสดมากขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนแรงงานที่เป็นมนุษย์แพงขึ้น
ตู้จำหน่ายเครื่อมดื่มเต่าบิน ที่ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มได้ผ่านจอระบบสัมผัสและรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. ตู้เต่าบินติดตั้งตามสถานีรถไฟและอพาร์ตเมนต์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 6,000 เครื่อง และจำหน่ายเครื่องดื่มได้มากถึงวันละ 200,000 แก้ว
ทั้งนี้ ตู้เต่าบินได้รับความนิยมจากการที่มีเครื่องดื่มให้เลือกซื้อหลากหลายและมีราคาเหมาะสม ซึ่งตู้เต่าบิน 1 เครื่อง สามารถจำหน่ายเมนูเครื่องดื่มที่แตกต่างกันได้ถึง 170 แก้ว และราคาอยู่ระหว่างแก้วละ 15-65 บาท ถูกกว่าราคาเครื่องดื่มจากร้านกาแฟทั่วไปครึ่งหนึ่ง
ชาวอเมริกันวัย 30 ปี ผู้ใช้งานตู้เต่าบินเป็นครั้งแรก บอกว่า เขาไม่เคยเห็นตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะที่มีความหลากหลายแบบนี้มาก่อน
"ฟอร์ท คอร์ป" บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเต่าบิน มีแผนแยกธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้า และจะนำเข้าตลาดหุ้นให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ และฟอร์ท คอร์ป ยังตั้งเป้าขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย และกำลังเริ่มขยายธุรกิจไปยังมาเลเซียในเร็ว ๆ นี้
ในประเทศจีน เครื่องจำหน่ายสินค้าอัจฉริยะที่รับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ อาทิ อาลีเพย์และวีแชทเพย์ของแอนท์กรุ๊ป รวมถึงการชำระเงินผ่านการจดจำใบหน้าบางตู้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟต่าง ๆ
เซี่ยงไฮ้ ไฮ-ดอลฟิน โรบอต เทคโนโลยี บริษัทตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่มีหุ่นยนต์ทำเครื่องดื่ม สามารถพบเห็นได้ใน 30 เมืองของจีน และบริษัทยังส่งออกตู้ประเภทนี้ไปต่างประเทศอีก 12 ประเทศ ทั้งสหรัฐ, อังกฤษ, เยอรมนี และมาเลเซีย
ข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล บริษัทวิจัยตลาดในลอนดอน ระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565
ตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าประเภทตู้จำหน่ายอัตโนมัติในมาเลเซียเพิ่มขึ้น 70%, ในจีนขยายตัว 40% สิงคโปร์และไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และตลาดเหล่านี้มีอัตราการเติบโตมากกว่าเครื่องจ่ายเครื่องดื่มเสียอีก
บริษัท SmartRx ในสิงคโปร์ เปิดตัวตู้จำหน่ายยาตามใบสั่งแพทย์เมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับแพทย์ทางไกลผ่านตู้จำหน่ายเล็ก ๆ และรับใบสั่งยาได้ทันที ขณะเดียวกัน ตู้จำหน่ายสินค้าประเภทอาหารเสริม เช่น วิตามิน ก็สามารถพบเห็นได้ในมาเลเซีย
เยสเฮลท์ ที่ให้บริการตู้จำหน่ายอาหารเสริม ได้ติดตั้งตู้มากกว่า 30 ตู้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และบริษัทมีแผนติดตั้งตู้เพิ่มมากกว่า 100 ตู้ ในมาเลเซียในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในเอเชีย คือ มีอัตราการเข้าถึงการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือสูง
จากข้อมูลของบริษัทฟิเดลิตี เนชันแนล อินฟอเมชัน เซอร์วิส ระบุว่า การชำระเงินร้านค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 44% เป็นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ มีสัดส่วนมากกว่าทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป
ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มดั้งเดิมและส่วนใหญ่รับเฉพาะเงินสดจำนวนมาก แต่การใช้ตู้ประเภทนี้เริ่มลดลง โดยระหว่างปี 2560 และ 2565 ตลาดตู้จำหน่ายเครื่องดื่มรับเงินสดในญี่ปุ่นลดลง 14% สหรัฐและเยอรมนีลดลง 17% ขณะที่ฝรั่งเศสก็ชะลอตัวลงเช่นกัน
เอเชีย เป็นภูมิภาคที่ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะมาแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีระดับความปลอดภัยค่อนข้างสูง ความกังวลเกี่ยวกับการทำลายหรือลักขโมยสินค้าในตู้จำหน่ายสินค้ามีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยดัชนีกฎหมายและความเป็นระเบียบของบริษัทแกลลัพ ที่ใช้วัดการรับรู้ความปลอดภัยทางสาธารณะของผู้คน พบว่า ดัชนีดังกล่าวในประเทศเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 94 และในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 86 สูงกว่าประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐ
นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลอดตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะมาแรงเช่นกัน
เนื่องด้วยตู้จำหน่ายสินค้าไม่มีต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน ใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยทำให้เสียค่าเช่าต่ำ และสามารถให้บริการได้ 24 ชั่วโมงในหลายประเทศอย่างจีนและไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำและมีประชากรสูงอายุจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการระบบอัตโนมัติมากขึ้นตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ซีพี ออลล์ เชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในไทย กำลังเปิดตัวตู้จำหน่ายสินค้าประเภทขนมและข้าวกล่องบริเวณร้านเซเว่น อีเลฟเว่นมากกว่า 10,000 สาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายสินค้า ท่ามกลางค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
แม้ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นแหล่งกำเนิดตู้จำหน่ายสินค้า แต่ตลาดตู้จำหน่ายสินค้าของญี่ปุ่นกลับซบเซาลง ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่เครื่องจำหน่ายสินค้าอัจฉริยะจำนวนมากผลิตขึ้นเองหรือผลิตในประเทศจีน
ฟูจิ อิเล็กทริก ที่ครองตลาดส่งออกตู้จำหน่ายสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศสูงถึง 70% เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาตู้จำหน่ายสินค้าโดยกำหนดราคาตามกลไกตลาด และตอนนี้บริษัทกำลังเร่งพัฒนาตู้จำหน่ายสินค้าที่รับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
เมื่ออุตสาหกรรมค้าปลีกเริ่มมองไปถึงการจำหน่ายสินค้าในยุคต่อไป อาจทำให้ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะในเอเชียเป็นผู้นำโลกอย่างต่อเนื่อง
“เคนิชิ ชิโมมูระ” หัวหน้าฝ่ายเอเชีย-ญี่ปุ่น จากโรแลนด์ เบอร์เกอร์ บริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติเยอรมนี กล่าวว่า “ตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะสามารถเป็นสินทรัพย์ที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก เนื่องจากตู้ประเภทนี้ สามารถใช้สำรวจการบริโภคและเทรนด์การซื้อสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคได้ โดยอาศัยการลงทุนอันน้อยนิด”