'ระบบวีซ่าใหม่'มาเลย์ เพิ่มขีดแข่งขันด้านแรงงาน
'ระบบวีซ่าใหม่'มาเลย์ เพิ่มขีดแข่งขันด้านแรงงาน โดยระบบยื่นขอวีซ่าใหม่ ไม่เพียงร่นระยะเวลาการดำเนินงานให้สั้นลงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้หลายบริษัทยื่นขอวีซ่าให้พนักงานได้ง่ายขึ้นด้วย
มาเลเซีย กำลังปรับปรุงระบบการออกวีซ่าใหม่เพื่อให้หลายบริษัทยื่นต่อวีซ่าทำงานให้แรงงานได้ง่ายมากขึ้น และหวังว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะช่วยดึงดูดแรงงานต่างชาติที่ความความเชี่ยวชาญ เข้ามาในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19
เมื่อวันพฤหัสบดี(15 มิ.ย.) มาเลเซียเปิดระบบ"เอ็กซ์แพตส์ เกตเวย์" ซึ่งเป็นระบบยื่นขอวีซ่าที่ช่วยร่นระยะเวลาขอต่อวีซ่า โดยลูกจ้างในภาคการเงิน, พลังงาน, และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ จะได้รับสิทธิในการใช้ระบบนี้ โดยระยะเวลาขอต่อวีซ่าจะเหลือเพียง 5 วันเท่านั้น
“ราฟิซี รามลี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ระบบยื่นขอวีซ่าใหม่ ไม่เพียงแค่ร่นระยะเวลาการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้หลายบริษัทยื่นขอวีซ่าให้พนักงานได้ง่ายขึ้น แรงงานไม่จำเป็นต้องเดินทางติดต่อหลายหน่วยงาน เพราะกระบวนการยื่นขอวีซ่าทั้งหมดจะรวมอยู่ในระบบเดียว”
ก่อนหน้านี้ กระบวนการยื่นขอวีซ่าต้องผ่านข้อกำหนดมากมายในหลายหน่วยงาน ส่งผลให้ต้องรออนุมัติวีซ่านานถึง 3 เดือน
ระบบวีซาดังกล่าว จัดลำดับบริษัทต่าง ๆ ไว้ตั้งแต่เทียร์ 1 ไปจนถึง เทียร์ 5 โดยดูจากตัวชี้วัดที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ บริษัทนายจ้างอยู่ในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ 12 กลุ่ม, พิจารณาวงจรชีวิตบริษัท, รายได้, ทุนเรือนหุ้น และภาพรวมของบริษัท ซึ่ง 12 อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อมาเลเซีย มีทั้งอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และพลังงาน, อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน, การสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการยื่นขอวีซ่าสำหรับบริษัทที่อยู่ในระดับเทียร์ 1 และเทียร์ 2 จะดำเนินแล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ
การปรับปรุงระบบยื่นขอวีซ่า เกิดขึ้นเนื่องจากมาเลเซียพยายามหาทางดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถ เพื่ออุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่สำคัญ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากร 33 ล้านคนแห่งนี้ เปิดรับแรงงานต่างชาติที่ประกอบอาชีพหลากหลายสาขา
นอกจากนี้ เมื่อปีก่อน มาเลเซียเปิดตัวโครงการวีซ่าดิจิทัลโนแมด เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เช่น ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงนักสร้างและนักพัฒนาคอนเทนต์ดิจิทัล
จากการตอบคำถามในสภาของ “วี. ศิวากุมาร” รัฐมนตรีทรัพยากรมนุษย์ เมื่อเดือน มี.ค. ระบุว่า ในปี 2565 มาเลเซียมีแรงงานต่างชาติประมาณ 1.5 ล้านคน ขณะที่ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเลเซียมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 ล้านคน
ราฟิซี พูดถึงภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า “การขาดแรงงานที่มีความสามารถและทักษะ สร้างความท้าทายต่อการเติบโตของบริษัทต่าง ๆ นำไปสู่การขาดการจ้างงานเงินเดือนระดับสูงและการจ้างงานที่มีคุณค่า”
จากรายชื่ออาชีพที่มีความสำคัญของมาเลเซีย ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า การรักษาแรงงานที่มีความสามารถ กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของหลายบริษัทในมาเลเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
รายงานดังกล่าวยังบอกด้วยว่า แรงงานมีทักษะทางเทคนิคต่ำและการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้น้อย เพราะขาดแรงจูงใจทางการเงินและความรู้ความเชี่ยวชาญ ขณะที่การลงทุนและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานที่สูงมาก ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถอีกด้วย
ขณะเดียวกัน หลายรัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียต่างออกมาตรการดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถ ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงแรงงานในภูมิภาคอย่างเข้มข้น
เพื่อนบ้านมาเลเซียเช่น ประเทศไทย ออกวีซ่าพำนักระยะยาว เมื่อเดือนพ.ย. 2565 ซึ่งเป็นวีซ่าที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศได้นานถึง 10 ปี เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ดึงดูดผู้ประกอบอาชีพแบบรีโมทเวิร์กที่ต้องการอยู่ในประเทศไทยและกลุ่มคนเกษียณอายุที่มีฐานะ
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ออกวีซ่า Overseas Networks & Expertise Pass เมื่อเดือน ม.ค. เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถอันดับต้น ๆ ของโลก วีซ่าดังกล่าวอนุญาตให้แรงงานที่มีรายได้สูง พำนักในประเทศได้นานถึง 5 ปี และสามารถทำงานได้หลายบริษัท
นอกจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียแล้ว ออสเตรเลียก็เตรียมเข้าร่วมแข่งขันดึงดูดแรงงานทักษะสูงเช่นกัน
ออสเตรเลียจะปรับเปลี่ยนนโยบายรับแรงงานต่างชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และจะเริ่มดำเนินการขั้นตอนแรกในเดือนก.ค. เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวจะได้รับรายได้สูงขึ้น
“แคลร์ โอเนล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขระบบรับแรงงานต่างชาติของประเทศ และเอ่ยถึงสโลแกนที่อธิบายเกี่ยวกับนโยบายรับแรงงานต่างชาติของประเทศที่มีนานกว่า 50 ปีว่า “ถ้าสโลแกนให้เลือกระหว่าง ‘เพิ่มประชากรหรืออยู่อย่างลำบาก’ บ่งบอกถึงความท้าทายของออสเตรเลียในยุค 1950 ดังนั้น การเลือกระหว่าง ‘แรงงานที่มีทักษะสูงหรือปล่อยให้ประเทศล่มจม’ คือความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญในยุค 2020 และในอนาคต”