ไร้ปาฏิหาริย์! สรุปภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ก่อนจบด้วยโศกนาฏกรรม
สรุปครบ! ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ “ไททัน” หลังหายปริศนา ลุยค้นหาก่อนจบด้วยโศกนาฏกรรม เกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมเปิดเหตุผลซากเรือไททานิกมีความสำคัญอย่างไร ทำไมบางคนถึงยอมเสี่ยงภัยดำลงไปดู?
Key Points:
- ภารกิจการค้นหาเรือดำน้ำไททัน ไร้ปาฏิหาริย์ หลังยามฝั่งสหรัฐแถลงพบชิ้นส่วนจำนวน 5 ชิ้น เป็นชิ้นส่วนของเรือใต้น้ำไททัน ที่คาดว่าเกิดจากการระเบิด และผู้ที่อยู่บนเรือทั้ง 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด
- ความบีบคั้นของภารกิจค้นหาเรือไททัน คือ ปริมาณออกซิเจนสำรองที่มีเพียงพอให้ใช้ได้นาน 70-96 ชั่วโมง และจะหมดลงในช่วงเย็นของวันที่ 22 มิ.ย.66
- เรือดำน้ำไททัน นอกจากจะให้บริการพานักท่องเที่ยวลงไปเยี่ยมชมซากเรือ “ไททานิก” แล้ว ยังมีหน้าที่พาทีมสำรวจทางทะเลลงไปทำงานด้วย
- เรือไททานิกเป็นหนึ่งในเรือสำราญที่มีความใหญ่โต และหรูหราที่สุดในโลก แต่ประสบอุบัติเหตุชนกับภูเขาน้ำแข็งในการเดินทางครั้งแรก ก่อนจะจมลงสู่ก้นทะเลตลอดกาล
ในที่สุดปาฏิหาริย์ก็ไม่มีจริง.. หลังความพยายามค้นหา เรือดำน้ำ "ไททัน" (Titan) ที่สูญหายตั้งแต่ช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาระหว่างดำดิ่งสู่ใต้มหาสมุทรเพื่อไปชมซากเรือไททานิก ท่ามกลางแรงบีบคั้นเรื่องเดดไลน์ "ออกซิเจน" ที่มีสำรองในเรือ
โดยล่าสุด พลเรือตรีจอห์น มอเกอร์ จากหน่วยยามฝั่งของสหรัฐ ก็ออกแถลงว่า พบชิ้นส่วนจำนวน 5 ชิ้น เป็นชิ้นส่วนของเรือใต้น้ำไททัน ที่คาดว่าเกิดจากการระเบิด และผู้ที่อยู่บนเรือทั้ง 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด
ทั้งนี้ “เรือดำน้ำไททัน” (Titan) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำพาชมซากเรือไททานิก ขาดการติดต่อกับเรือวิจัย Polar Prince หลังจากดำดิ่งจากผิวน้ำลงสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ไปเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ทำให้ต้องระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากนานาประเทศเพื่อค้นหาผู้โดยสาร เนื่องจากมีข้อมูลว่าเรือดำน้ำไททันมีออกซิเจนฉุกเฉินอยู่ที่ 70-96 ชั่วโมงเท่านั้น
"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนย้อนดูความท้าทายของภารกิจการค้นหา รวมถึงตอบคำถามที่หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าซากเรือ “ไททานิก” หรือ “Titanic” มีความสำคัญ และประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมบางคนจึงยอมจ่ายเงินจำนวนมาก และเสี่ยงภัยนั่งเรือดำน้ำเล็กเพื่อลงไปเยี่ยมชม
- รู้จักเรือดำน้ำ “ไททัน” บริการสุดล้ำเพื่อการชม “ซากเรือไททานิก”
สำหรับเรือดำน้ำไททันเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ที่ให้บริการพานักท่องเที่ยวลงไปเยี่ยมชมซากเรือสำราญในตำนานอย่าง “ไททานิก” ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลลึก 3,800 เมตร
บริการทริปท่องเที่ยวใต้มหาสมุทรดังกล่าวเป็นของบริษัท OceanGate Expeditions (โอเชียลเกท) สามารถรองรับลูกเรือได้ 5 คน โดยสามารถดำน้ำลงไปได้ที่ระดับความลึก 4,000 เมตร เดินทางด้วยความเร็ว 3 นอต หรือประมาณ 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ก่อนการเดินทางผู้โดยสารทุกคนต้องลงชื่อในเอกสารรับรองว่า การใช้บริการเรือดำน้ำไททันอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม “จุดเด่นเรือดำน้ำไททัน” คือ มีน้ำหนักเบา เนื่องจากทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนียมที่มีความคงทนแข็งแรง และยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการสร้างเรือดำน้ำทั่วๆ ไป สำหรับพื้นที่ภายในมีอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสารจาก Starlink ของ Elon Musk เข้ามาเสริมความสะดวกสบายอีกด้วย ทั้งยังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น การวัดเสียง และความดัน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ เมื่อเรือดำลงไปสู่ความลึกที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ภายในเรือดำน้ำไททันไม่มีที่นั่ง ผู้โดยสารต้องนั่งบนพื้น ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องเล็กๆ ที่เอาไว้ให้ชมวิวใต้ท้องทะเลและซากเรือไททานิกได้ รวมถึงมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว
ภาพเรือดำน้ำไททัน จาก AFP
- ชมซากเรือไททานิกต้องจ่ายเท่าไร ? พร้อมรายละเอียดการบริการ
ไม่เคยมีประสบการณ์ดำน้ำก็มีโอกาสชมซากเรือ “ไททานิก” ได้ ภายใต้บริการ “Titan submersive” เพราะทางโอเชียลเกทอ้างว่า ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยทำให้เรือดำน้ำ “ไททัน” มีความปลอดภัย และแน่นอนว่าการดำน้ำเยี่ยมชมซากเรือไททานิกอันโด่งดังย่อมมีราคาค่าโดยสารที่ไม่ธรรมดา โดยสนนราคาตั๋วเที่ยวชมต่อทริป อยู่ที่คนละ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 8 วัน
สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวเริ่มต้นจากเมือง St. John’s ใน Newfoundland (รัฐนิวฟันด์แลนด์) โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพื่อดำน้ำสู่ก้นทะเล และใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการสำรวจและชมซากเรือไททานิกใต้ทะเล จากนั้นจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งเรือดำน้ำไททันสามารถอยู่ใต้น้ำได้ 10 ชั่วโมง
โดยจุดที่เรือไททานิกจมอยู่นั้นห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดาประมาณ 600 กิโลเมตร มีซากเรือหลักๆ กระจายอยู่ 2 จุด โดยซากส่วนหัวเรือ และท้ายเรืออยู่ห่างจากกันประมาณ 800 เมตร นอกจากซากเรือหลักแล้ว ยังมีเศษซากเรือขนาดใหญ่กระจายอยู่รอบๆ บริเวณนั้นอีกด้วย
ไม่ใช่แค่บริการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เรือดำน้ำไททันยังสามารถใช้เพื่อการสำรวจ ตรวจสอบ วิจัย และ รวบรวมข้อมูล เพื่อการผลิตภาพยนตร์และสื่อต่างๆ รวมไปถึงเป็นการทดสอบใช้งานฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ใต้ทะเลลึกอีกด้วย
- เกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน ?
หลังจากไม่สามารถติดต่อเรือดำน้ำไททันได้ เรือวิจัย Polar Prince ได้เดินทางเหนือผิวน้ำไปยังบริเวณที่ใกล้กับจุดที่ซากเรือไททานิกจมอยู่ ด้านเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่เรือดำน้ำไททันขาดการติดต่อไปนั้น น่าจะอยู่ห่างจากแหลมเคปคอด รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ ไปประมาณ 1,450 กิโลเมตร
ขณะที่หน่วยยามฝั่งสหรัฐ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเรือดำน้ำไททันมีออกซิเจนฉุกเฉินอยู่ที่ 70-96 ชั่วโมง
สำหรับปฏิบัติการค้นหานั้นแบ่งเป็น 2 มิติ คือ มิติแรกเป็นการค้นหาบนผิวน้ำ เพราะเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ “เรือดำน้ำไททัน” จะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แต่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใครได้ รวมถึงส่งเครื่องบิน C-130 Hercules อีก 2 ลำ เพื่อการค้นหาเหนือผิวน้ำ
สำหรับมิติที่สอง เป็นการค้นหาใต้น้ำ ด้วยการทิ้งทุ่นโซนาร์ที่สามารถตรวจสอบวัตถุใต้ทะเลได้ลึกกว่า 3,900 เมตร และคาดว่าเพียงพอเมื่อเทียบกับระดับความลึกของซากเรือไททานิกที่จมอยู่ที่ระดับ 3,800 เมตร
แน่นอนว่าด้วยค่าบริการที่แพงระยับผู้ที่จะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เยี่ยมชมซากเรือไททานิกดังกล่าว จึงเป็นกลุ่มคนรวยระดับมหาเศรษฐี โดยมีรายงานถึงรายชื่อผู้ที่อยู่ในเรือดำน้ำไททันทั้งหมด 5 คน มีดังนี้ ฮามิช ฮาร์ดิง, สต็อกตัน รัช, ชาห์ซาดา ดาวูด, ซูเลมาน ดาวูด และ ปอล อองรี นาร์โฌเลต์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘เรือดำน้ำ’ หายปริศนา! เปิดประวัติ 5 ลูกเรือทริปชมซากเรือไททานิก
- ความท้าทายของภารกิจการค้นหาเรือดำน้ำไททัน
อุปสรรคที่สำคัญของภารกิจการค้นหาเรือดำน้ำ “ไททัน” ก็คือ ความลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ปัญหาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 0.9 -1.8 เมตร รวมถึงออกซิเจนที่มีจำกัด เพราะแม้ว่าเรือดำน้ำไททันจะมีการติดตั้งระบบนำทาง รวมถึงอุปกรณ์ยังชีพสำหรับลูกเรือครบทั้ง 5 คน ที่ใช้ได้เป็นเวลา 4 วัน แต่เมื่อเรือดำลงไปใต้น้ำลึกจะไม่มีระบบ GPS ดังนั้นจะเหลือเพียงระบบการสื่อสารผ่านข้อความจากลูกเรือไปยังเรือใหญ่บนผิวน้ำเท่านั้น แต่การติดต่อดังกล่าวก็ขาดหายไป
หากโชคดีค้นพบเรือดำน้ำไททันก็ไม่ได้หมายความว่าภารกิจนี้จะจบลง เพราะจำเป็นจะต้องดูตำแหน่งและความลึกที่พบ ต้องประเมินวิธีการช่วยเหลือลูกเรือให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกเรือปลอดภัยมากที่สุด โดยเบื้องต้นมีการเตรียมหุ่นยนต์ Victor 6000 มาเพื่อใช้ตะขอเกี่ยวเรือไททันร่วมกับเรือปั้นจั่น Horizon Arctic บนผิวน้ำที่มีเครนติดกับตัวเรือ แล้วดึงเรือไททันขึ้นมา
ภาพหุ่นยนต์ Victor 6000 จาก Reuters
นอกจากนี้ยังมีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ด้วยว่า สถานการณ์ที่แย่ที่สุดก็คือ เรือดำน้ำประสบอุบัติเหตุจากปัญหาความดัน เพราะแม้ว่าเรือไททันจะมีความทนทานต่อแรงดันรุนแรงใต้ท้องทะเล แต่ด้วยรูปร่าง และโครงสร้างอาจทำให้เกิดผลเสียเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เรือดำน้ำไททันมีความเสี่ยงที่จะระเบิดได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จักหุ่นยนต์ ‘Victor 6000’ ความหวังค้นหา ‘เรือดำน้ำไททัน’
- ซากเรือไททานิกสำคัญอย่างไร ทำไมต้องดำลงไปดู
จากเหตุการณ์เรือดำน้ำ “ไททัน” สูญหาย ทำให้ชื่อของเรือสำราญในตำนานอย่าง “ไททานิก” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และมีบางคนสงสัยว่าเรือไททานิกสำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องลงทุนนั่งเรือดำน้ำเพื่อไปเที่ยวชม
ภาพซากเรือไททานิก จาก AFP
เรือไททานิก คือ เรือโดยสารประเภทเรือสำราญที่มีขนาดใหญ่ และมีความหรูหราที่สุดในโลก ณ ช่วงปี 1911 เป็นผลงานการออกแบบ และประกอบโดยอู่ต่อเรือของบริษัท Harland and Wolff หลังจากนั้นในวันที่ 11 เม.ย.1912 ไททานิกออกเดินทางรอบปฐมฤกษ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ จากเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ไปยังมหานครนิวยอร์ก สหรัฐ พร้อมด้วยพนักงาน และผู้โดยสารรวมทั้งหมดประมาณ 2,217 คน โดยไม่มีใครคาดคิดว่าการเดินทางครั้งนี้จะกลายเป็นครั้งสุดท้าย
ว่ากันว่าอุบัติเหตุของไททานิกในครั้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เที่ยงคืนของคืนวันที่ 14 เม.ย. ระหว่างการเดินทาง ไททานิกได้ประสบอุบัติเหตุชนกับภูเขาน้ำแข็งบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ก่อนจะจมลงสู่ก้นทะเลในเวลาประมาณ 02.20 น. ของวันที่ 15 เม.ย. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,500 คน เรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางเรือที่มีการสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก
หลังจากนั้นในปี 1985 ก็ได้มีการค้นพบซากเรือไททานิกเป็นครั้งแรก ทำให้มีการสำรวจซากเรือในเวลาต่อมาเพื่อหาสาเหตุการอับปางที่แท้จริง วิเคราะห์โครงสร้างทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของเรือ ไปจนถึงการศึกษาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ที่เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย
สถานการณ์ล่าสุด เมื่อเวลา 17.55 น. ของวันที่ 22 มิ.ย. ยังไม่พบเรือดำน้ำไททัน และลูกเรือทั้ง 5 คน
อ้างอิงข้อมูล : The Matter, Victorytale, The Standard, dailygizmo และ PPTV
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์