เปิดพิรุธ'เรือใต้น้ำไททัน'ผู้เชี่ยวชาญเตือนตั้งแต่ปี 61
เปิดพิรุธ'เรือใต้น้ำไททัน'ผู้เชี่ยวชาญเตือนตั้งแต่ปี 61 โดยการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ดำดิ่งลงไปชมซากเรือไททานิกที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเกือบสี่กิโลเมตรนับเป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจ แต่ความปลอดภัยของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญ
ตามที่ “เรือใต้น้ำไททัน” พร้อมด้วยกัปตันและผู้โดยสาร 4 คน ดำลงไปในทะเลลึกเพื่อชมซากเรือไททานิกตั้งแต่วันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ แล้วขาดการติดต่อ คาดกันว่า ออกซิเจนในเรือจะหมดภายในเช้าวันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ
เรือไททัน ความยาว 22 ฟุต ดำเนินการโดยบริษัทโอเชียนเกต เอกซ์เพดิชัน ที่มีฐานปฏิบัติการในเมืองเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ดำลงไปที่ระดับ 4,000 เมตรครั้งแรกในเดือน ธ.ค.2561และลงไปในพื้นที่เรือไททานิกครั้งแรกซึ่งอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกราว 3,800 เมตรครั้งแรกในปี 2564 ปีนี้บริษัทวางแผนดำลงไป 18 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งและพนักงานบริษัทอีกหนึ่งคนกังวลต่อความปลอดภัยของไททัน ที่โอเชียเกตไม่ให้ภาคีฝ่ายที่ 3 รับรองความปลอดภัยของไททัน อาทิ อเมริกันบูโรออฟชิปปิง ผู้ทำหน้าที่จัดประเภทยานใต้น้ำ หรือกลุ่มบริษัทดีเอ็นวีผู้จัดการความเสี่ยงและรับประกันคุณภาพอิสระของยุโรป ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการออกแบบยานใต้น้ำ
วิลล์ โคห์เนน ประธานคณะกรรมการดูแลยานใต้น้ำมีมนุษย์ บริษัทมารีนเทคโนโลยีโซไซตี้ (เอ็มทีเอส) ซึ่งหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยระหว่างบริษัทด้วยกันเอง ทำจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค.2561 ถึงสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โอเชียนเกต กัปตันเรือลำไททันที่สูญหาย ตัวจดหมายแสดงความกังวลหลายเรื่องของไททัน ซึ่งภายหลังเขาได้หารือกับรัชเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้
“เป็นการพูดคุยตรงไปตรงมาแบบผู้ใหญ่คุยกัน และเราก็เห็นด้วยที่จะเห็นไม่ตรงกัน” โคห์เนนเผยกับรอยเตอร์เรื่องที่ตนโทรศัพท์คุยกับรัช
ปัญหาไม่ใช่แค่ความบกพร่องในการออกแบบอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการที่โอเชียนเกตไม่ปฏิบัติตามกระบวนการที่ยอมรับกันในแวดวง ว่าด้วยการออกแบบ ผลิต และทดสอบยานใต้น้ำ
“ความเข้าใจของเราคือ แนวทางการทดลองที่โอเชียนเกตใช้อยู่ในตอนนี้อาจส่งผลทางลบ (ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงหายนะ) ซึ่งจะส่งผลต่อทุกคนในอุตสาหกรรม” ความตอนหนึ่งในจดหมายระบุ
โคห์เนน กล่าวต่อว่า จดหมายฉบับนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านั้นผู้เชี่ยวชาญยานใต้น้ำหลายคนเคยแสดงความกังวลเรื่องไททัน บนเวทีเสวนาประจำปีที่จัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน โคห์เนนเคยขอให้คณะกรรมการเอ็มทีเอสส่งจดหมายเตือนในนามคนทั้งวงการแต่คณะกรรมการปฏิเสธ
“ผมยืนยันตามจดหมาย พวกเราทุกคนล้วนกังวล ไม่สนุกหรอกเมื่อบอกว่า เพื่อน เราหวังว่าอันตรายจะไม่เกิดขึ้น”
กระนั้น โอเชียนเกตได้แจ้งผู้โดยสารให้ทราบเกี่ยวกับการทดลองไททัน โดยในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาซีบีเอสนิวส์รายงานข่าวผู้สื่อข่าวของตนอ่านเงื่อนไขที่ต้องลงนามก่อนลงเรือไททัน ระบุว่าไททัน “เป็นยานใต้น้ำทดลองที่ยังไม่มีองค์กรกำกับดูแลใดให้การรับรองถึงผลการบาดเจ็บทางกาย, อารมณ์ หรือการเสียชีวิต”
รอยเตอร์สอบถามไปยังโอเชียนเกต เอบีเอส และดีเอ็นวี ยังไม่ได้รับคำตอบ
พนักงานเปิดโปง
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2561 เดวิด ลอชริดจ์ พนักงานโอเชียนเกต ส่งต่อรายงานวิศวกรรมที่เขาเขียนเองให้ผู้บริหารบริษัท รายงานฉบับนี้วิพากษ์กระบวนการวิจัยและพัฒนาเรือไททันของโอเชียนเกต โดยลอชริดจ์กังวลมากเรื่องวัสดุที่ใช้ในตัวเรือ และไม่มีการทดสอบตัวเรือในด้านความสามารถต้านทานแรงดันในระดับน้ำลึก
วันรุ่งขึ้นบริษัทเรียกประชุมเพื่อหารือเรื่องความกังวลของลอชริดจ์ ตอนปิดประชุมลอชริดจ์ประกาศว่าไม่สามารถยอมรับการตัดสินใจออกแบบของโอเชียนเกตได้ และจะไม่อนุญาตให้เดินทางโดยมีลูกเรือถ้าไม่ทดสอบเพิ่มเติม หลังจากนั้นลอดริชจ์ถูกบริษัทไล่ออก ต่างฝ่ายต่างฟ้องร้องเป็นคดีความกัน
โอเชียนเกตฟ้องลอชริดจ์ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค.ปี 2561 กล่าวหาว่า เขานำข้อมูลลับของบริษัทไปหารือกับคนอื่นอย่างน้อยสองคน ส่วนลอชริดจ์ฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปฏิเสธข้อกล่าวหา และอ้างว่าโอเชียนเกตฟ้องเขาเพื่อปิดปากไม่ให้เผยปัญหาการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของผู้โดยสารที่ไม่รู้เรื่องด้วย
ทั้งโอเชียนเกตและลอชริดจ์ไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ ส่วนโคห์เนนกล่าวว่า จดหมายของเขาไม่ได้เขียนจากคำฟ้องของลอชริดจ์
เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน รายงานในทำนองเดียวกันว่า ผู้เชี่ยวชาญห่วงประเด็นความปลอดภัยของเรือไททันมานานแล้ว
ไมค์ รีส ผู้เคยลงเรือไททันเมื่อปีก่อน เผยว่า ก่อนลงเรือต้องลงนามไม่ฟ้องร้องที่กล่าวถึงความตายไว้ถึงสามครั้ง เขาเดินทางกับโอเชียนเกตมาสามครั้งเรือขาดการติดต่อแทบทุกครั้ง
ทั้งนี้ เดอะการ์เดี้ยนเชื่อว่า ก่อนออกเรือไททันต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรฐานอย่างแน่นอน แต่ที่เป็นประเด็นคือมาตรฐานความปลอดภัยของอุตสาหกรรมยานใต้น้ำ
ปากคำผู้สร้าง
รัช เป็นผู้สร้างเรือไททันและเป็นหนึ่งในผู้สูญหาย เขามีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมมาหลายสิบปี เป็นผู้ดูแลการเดินทางชมซากเรือไททานิกมาตั้งแต่ปี 2564 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งโอเชียนเกตกล่าวว่า ภายในเรือไททันมีเครื่องมือดูแลความปลอดภัยอันทันสมัยจำนวนหนึ่ง
ปลายปีก่อนรัชเคยให้สัมภาษณ์เดอะการ์เดียนแต่ไม่ได้ตีพิมพ์
“เราจำเป็นต้องสร้างเรือใต้น้ำของเราเอง น้ำหนักราวครึ่งหนึ่งของเรือใต้น้ำทั่วๆ ไปหรือเรือวิจัย เพื่อลงไปที่นั่น และเพราะมันเล็กกว่า เบากว่า จึงเคลื่อนไหวคล่องแคล่วกว่าและลงไปได้ใกล้มาก”