เกาหลีใต้ จ่อยกเลิกข้อสอบยาก ป้องกันเด็กแห่ กวดวิชา
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในหลายประเทศเอเชียขึ้นชื่อเรื่องความโหดหินเด็กๆ ต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีซึ่งนั่นหมายถึงการเข้าสถาบัน กวดวิชา ชั้นนำเพื่อให้สอบได้ ไม่เว้นแม้แต่ การสอบซูนึง ที่ เกาหลีใต้
ช่วงเดือน พ.ย.ของทุกปี เป็นช่วงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ที่เรียกว่า “การสอบซูนึง” แต่ละปีมีนักเรียนกว่า 500,000 คนต้องเข้าสอบซูนึงยาวนาน 9 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการสอบที่ตัดสินชีวิตนักเรียนเลยทีเดียว
เพราะไม่ใช่แค่เป็นตัวกำหนดว่าจะได้เรียนมหาวิทยาลัยไหน แต่ยังรวมไปถึงการงานอาชีพที่เด็กจะทำในอนาคต และเผลอๆ อาจครอบคลุมไปถึงโอกาสการแต่งงานของนักเรียนด้วย
ความสำคัญของการสอบซูนึง เห็นได้จากรัฐบาลต้องออกมาตรการพิเศษป้องกันไม่ให้มีอะไรมารบกวนการสอบ เช่น ระงับการขึ้นลงของเครื่องบินระหว่างการทดสอบฟังภาษาอังกฤษ
สิ่งที่น่ากลัวในการสอบซูนึงคือ “คำถามเชือด” ที่ไม่สามารถตอบได้ง่าย ๆ ด้วยสิ่งที่ได้จากการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐ ที่ต้องออกข้อสอบยากแบบนี้ก็เพื่อแยกให้ได้เด็กหัวกะทิจริงๆ แต่กลายเป็นว่าข้อสอบสุดโหดทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มให้ลูกหลั่งไหลไปเรียนพิเศษที่สถาบันติวหรือที่ภาษาเกาหลีเรียกว่า ฮักวอน
เมื่อความยากหนักข้อเข้า รัฐมนตรีศึกษา “ลี จูโฮ” ต้องออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.)
“ผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ผมทำได้ในฐานะรัฐมนตรีศึกษา ไม่ให้มีคำถามนอกระบบการศึกษาของรัฐเพื่อทำให้การสอบยุติธรรม”
วันรุ่งขึ้นกระทรวงศึกษา “รับลูก” รัฐมนตรีทันที แถลงว่า จะยกเลิก “คำถามเชือด” ในการสอบ “ซูนึง” เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องไปพึ่งพาสถาบันติว
จริงๆ แล้วความพยายามเปลี่ยนระบบสอบซูนึงเคยมีมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแต่ล้วนล้มเหลว รวมถึงในปีนี้ที่มีความพยายามยก “คำถามเชือด” ออกจากการสอบจำลอง ซึ่ง รมว.ลีตั้งคำถามว่า ทางการควร “พิจารณาตัวเอง” ว่าทำไมความพยายามแก้ไขข้อสอบยากที่ผ่านมาจึงล้มเหลว เขากล่าวด้วยว่า “แรงผลักดัน” เบื้องหลังก็คือการเติบโตแบบหยุดไม่อยู่ของการศึกษาเอกชน ในขณะที่รัฐบาลนิ่งเฉยกระเป๋าเงินโรงเรียนกวดวิชากกลับ “พองออกๆ”
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีชี้ว่า ในปี 2565 ครัวเรือนเกาหลีใต้จ่ายเงินไปกับโรงเรียนกวดวิชาทั้งระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วต้องจ่าย 320 ดอลลาร์ต่อคนต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยราว 11,100 บาท
ไม่เพียงแค่เปลืองเงินเปลืองทองเข้าโรงเรียนกวดวิชา ระบบการศึกษาที่แข่งขันสูงมากของเกาหลีใต้จนสร้างแรงกดดันให้นักเรียนมากมหามหาศาล ถูกกล่าวโทษว่าเป็นเหตุให้ วัยรุ่นซึมเศร้า อัตราการฆ่าตัวตายวัยรุ่นเกาหลีใต้สูงสุดประเทศหนึ่งของโลก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการศึกษา ความเครียดในวัยรุ่น แม้เป็นวิธีการเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำ